15 ปี ยึดหลักพอเพียง...สู่ศูนย์เรียนรู้ตำบล
เมื่อเอ่ยถึงความแห้งแล้งแล้วไม่เคยปรานีใคร แม้แต่ที่หมู่ 14 บ้านวังมะเดื่อ ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งมีน้ำหลากมาบ้างเป็นบางเวลาในช่วงหน้าฝน แต่เมื่อตรวจสอบสถิติในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกิดความแห้งแล้งอย่างแสนสาหัส แต่มีเกษตรกรรายหนึ่งที่หนีความยากจนและความแห้งแล้งที่ยิ่งกว่านี้จาก อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น เมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา คือ นายวีระ สวนไผ่ เกษตรกรยอดนักสู้วัย 51 ปี กับ นางบังอร สวนไผ่ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากวัยใกล้เคียงกัน มาปักหลักสู้ชีวิตที่บ้านวังมะเดื่อ จนทำให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้สินที่พอกพูนมานาน ทำให้ไม่เดือดร้อนเหมือนเมื่อก่อน แถมยังมีเงินส่วนหนึ่งพอที่จะเก็บไว้เป็นทุนสำรอง และยังมีอีกส่วนหนึ่งใช้ในการส่งบุตร-ธิดาอีก 2 คน ได้ร่ำเรียนโดยไม่เดือดร้อนอีกด้วย นายวีระ เล่าว่า เมื่อกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ได้ทำนาเหมือนเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่ 60 ไร่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อันมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคแมลงระบาด ต้นทุนการผลิตสูง และราคาผลผลิตไม่แน่นอน ในที่สุดมาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อนำ ข้าวไปขายที่โรงสีแห่งหนึ่งในช่วงบ่ายได้ราคาเกวียนละ 3,200 บาท ในขณะที่เพื่อน เกษตรกรรายอื่นนำข้าวไปขายในช่วงเช้าได้ราคาเกวียนละ 3,500 บาท ทางโรงสีบอกว่า ถ้าไม่ขายในราคานี้ก็ให้ขนข้าวกลับไปก่อน นี่เป็นวิธีการซื้อข้าวแบบกดราคา การขนข้าว กลับยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น เพราะ ผีถึงป่าช้า ไม่เผาก็ต้องฝัง จึงเป็นคำถามที่มีคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง
เกษตรกรตัวอย่างเล่าอีกว่า ต่อมาจึงได้ ปรับทุกข์กับ นางบังอร ภรรยาคู่ใจ ว่า ขืนยังทำนาอยู่อย่างนี้คงต้อง ตกเป็นเบี้ยล่างพ่อค้าคนกลางเรื่อยไป จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาทำ การเกษตรแบบ พอเพียงตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการ ลดพื้นที่เหลือเพียง 16 ไร่ แล้วใช้แรงงานในครอบครัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งทุกตารางนิ้วของพื้นที่นี้จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการปลูกพืชที่หลากหลายแบบพึ่งพาอาศัยกัน ได้แก่ ทำนา 8 ไร่ งาดำ 1 ไร่ มะนาว 3 ไร่ ฝรั่ง 1 ไร่ ผักสวนครัว 2 งาน บ่อเก็บน้ำและเลี้ยงปลา 2 บ่อ ๆ ละ 1 ไร่ และอีก 2 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนวัสดุที่ใช้ไปเพื่อการเจริญเติบโตของพืชนั้น จะเน้นอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด เศษ ซากพืชเป็นหลัก ด้วยการปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย และเป็นน้ำหมักชีวภาพ จึงทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี นายวีระ เล่าด้วยว่า ทั้งนี้ทุกกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ดังกล่าว จะใช้การตลาดในพื้นที่เป็นตัวนำการผลิตทั้งสิ้น โดยในช่วงแรก ๆ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ จะช่วยกันขนขึ้นรถจักรยานยนต์นำไปขายตามจุดต่าง ๆ ที่เป็นขาประจำ หรือตลาดนัด จนเมื่อมีเงินเก็บได้จำนวนหนึ่ง จึงหันไปซื้อรถกระบะมือสองมาใช้แทน ทำให้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สามารถขยายตลาดผลผลิตไปได้กว้างขวางมากขึ้น จนถึงขั้นขนาดที่ช่วงหน้าฝนที่มีผลผลิตหลากหลายชนิดออกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผักพื้นบ้านจะมีแม่ค้าเดินทางมารับซื้อถึงสวนเลยทีเดียว ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทุกวันวันละ 500-1,000 บาท สำหรับปัญหาในช่วงหน้าแล้งไม่มีปัญหาแล้ว เนื่องจากไร่ของตนยังสามารถสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ จากการขายผลมะนาว เพราะจะขายเพียงลูกละ 4 บาทเท่านั้น แต่ในขณะที่รายอื่น ๆ ขายกันที่ราคาลูกละ 5 บาท อย่างไรก็ตาม หากใครต้องการนำการทำเกษตรแบบพอเพียงไปเป็นแบบอย่าง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 08-7195-1785 ซึ่งจะ บอกทุกอย่างด้วยความเต็มใจ แต่ทางที่ดีมาดูด้วยตนเองจะได้รู้จริง นายสุริยัน ชมพูมิ่ง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลหนองกลับ กล่าวว่า นายวีระ เป็นเกษตรกรชั้นนำที่มีความขยัน กล้าที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนวิธีการผลิตไปทำในสิ่งที่ดีกว่า จนสามารถเป็นจุดถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงของตำบลและอำเภอได้ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของเยาวชน รวมทั้งเกษตรกรทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรไปศึกษา ดูงานและจำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดยทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่นายวีระยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ยังได้ทดลองนำต้นผักหวานป่าไปปลูกแซมในสวน ประกอบกับทาง อบต.หนองกลับ ได้ให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่ นายมาโนชน์ มีชื่น เกษตรอำเภอหนองบัว กล่าวว่า สวนของ นายวีระ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำการเกษตรแบบพอเพียง ที่ดูผิวเผินอาจจะ มองไม่เห็นคุณค่าว่าแท้ที่จริงแล้วจะมีรายได้จริงหรือไม่ แต่เพราะ นายวีระ ได้ให้ภรรยาทำบัญชีครัวเรือน จึง ทำให้ทราบจำนวนรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนที่แท้จริง ว่ามีรายจ่ายส่วนใดที่ไม่จำเป็น จะมีการปรับลดลงมา นี่ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพทุกประเภท และการปลูกพืชที่หลากหลายทำให้ระบบนิเวศวิทยาดีขึ้น โรคแมลงลดน้อยลง ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำมากเท่าใดนั่นหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้น นี่ถือเป็นอีกตัวอย่างให้เกษตรกรที่กำลังล้มลุกคลุกคลานกับการปลูกพืชผักตามราคาตลาด แต่หากหันมาสนใจการปลูกพืชแบบผสมผสาน และการเกษตรแบบพอเพียง เชื่อได้ว่า จะฝ่าฟันกับอุปสรรคที่เคยผ่านมาได้อย่างไม่ยากเย็น และจะกลายเป็นบทเรียนแห่งชีวิตที่สามารถสอนลูกหลานได้ตลอดไป.
สุเมธ สุขุมาลไพบูลย์/ชลิต พุ่มเรือง
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์