ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รอง อธิบดีกรมประมงให้สัมภาษณ์ ในระหว่างลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการลดต้นทุนอาหาร สัตว์น้ำ ณ ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิล กลุ่ม ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งบางหัก อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ว่าหลังจากที่กรมประมง ได้จัดทำแผนโครงการต่าง ๆ ในการ พัฒนาศักยภาพการผลิตปลานิลทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ และส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลานิลรวมกลุ่มผลิตปลานิลที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ อีกทั้งมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาการซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการ เพาะเลี้ยงปลานิล กระทั่งเกษตรกรหลายรายประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ และเพื่อให้พัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานิลให้มีศักยภาพทั้งระบบ กรมประมงจึงได้จัดโครงการลดต้นทุนอาหารสัตว์น้ำ โดยเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำได้เอง กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกุ้งบางหัก ซึ่งในอดีตประสบปัญหาขาดทุนจากการเพาะเลี้ยงกุ้ง และปรับเปลี่ยนหันมาเลี้ยงปลานิลแทนนั้น ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ คือ มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งในการผลิตปลานิลส่งโรงงานแปรรูปส่งออกได้หลายสิบตันต่อเดือน อีกทั้ง เมื่อได้รับการส่งเสริมให้ผลิต อาหารสัตว์น้ำใช้เอง โดยสนับ สนุนเครื่องผลิตอาหารสัตว์ให้ ทางกลุ่มก็ได้ลองผิดลองถูกกระทั่งสามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพใช้เอง ซึ่งสูตรอาหารนี้มีต้นทุนแค่เพียงกิโลกรัมละ 9 บาท ช่วยลดภาระต้นทุนการเลี้ยงปลานิลไปได้พอสมควร อีกทั้งยังช่วยลดการสูญเสียอาหาร ในการเลี้ยงแบบเดิม ๆ ด้วย และทางกรมประมงยังได้แนะนำสูตรอาหารอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุท้องถิ่น ให้เกษตรกรได้มีทางเลือกอีกด้วย
คุณพรชัย บัวประดิษฐ์ ผู้นำกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกุ้งบางหัก เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิกกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ใช้เงินหมุนใน การเพาะเลี้ยง-ขายปลานิล ดังนั้น การที่สามารถผลิตอาหารสัตว์น้ำและใช้ในกลุ่มสมาชิก จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้เกษตร กรได้มาก สำหรับเครื่องผลิตอาหารสัตว์น้ำเครื่องนี้ ปัจจุบันผลิตอาหารต่อรอบประมาณ 800 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อบวกลบคูณหารกับต้นทุนการผลิตแล้ว อาจจะยังมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอต่อรายจ่าย อนาคตจึงคาดว่าจะผลิตให้ได้รอบละ 1,000 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัญหา อยู่บ้าง อาทิ ปัญหาในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อวัตถุดิบ ปัญหาจำนวนเครื่องที่ไม่มีสำรอง หากเครื่อง ผลิตนี้เสียก็มีผลต่อการผลิตอาหารให้มีความต่อเนื่องด้วย ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดี กรมประมง ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วย ว่า ทางกรมประมงมีความต้องการให้กลุ่ม ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งบางหัก เป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ได้ศึกษาถึงการลดต้นทุนอาหารสัตว์น้ำ เพื่อเป็นการกระจาย ความรู้ที่มีอยู่ให้แพร่หลายในวงกว้าง และในอนาคตจะมีการจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ โดยกรมประมง จะให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเกษตรกร.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์