"ทุเรียน เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งปี 2553 นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ ว่า ราคาทุเรียนมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ปัจจุบันมีเกษตรกรเร่งตัดผลผลิตทุเรียนอ่อนออกมาขายมากขึ้น โดยหวังเก็งกำไรในช่วงเปิดตลาดต้นฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งหารู้ไม่ว่า.. การกระทำดังกล่าวได้ทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงทุเรียนไทยอย่างมาก ระยะยาวผู้ที่เดือดร้อนก็คือ เกษตรกรเอง ...ไม่ใช่เฉพาะทุเรียนเท่านั้น ปาล์มน้ำมัน ก็ยังเกิดขึ้นด้วย นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากราคาทุเรียนในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง มีราคาถึง 70-90 บาทต่อกิโลกรัม เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาตัดทุเรียนอ่อนป้อนตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อหวังที่จะขายผลผลิตราคาสูงในช่วงเปิดตลาดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ซึ่งการตัดทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพส่งตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ จะทำให้ผู้บริโภคไม่ยอมรับในคุณภาพสินค้า ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ทุเรียนไทยจะเสียหาย อนาคตประเทศคู่ค้าจะขาดความเชื่อมั่นซึ่งอาจเกิดปัญหาสินค้าถูกตีกลับและกระทบต่อการส่งออกในระยะยาวได้
ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งเข้าไปสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรให้คัดเลือกทุเรียนที่ได้คุณภาพนำเข้าสู่ตลาดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคา ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งประสานทุกจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียน เพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนก่อนที่จะส่งตลาดโดยเฉพาะสินค้าทุเรียนส่งออกต้องดูแลอย่างดี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรอาจต้องสุ่มตรวจคุณภาพด้วย โดยสินค้า 10 ตู้คอนเทเนอร์ อาจต้องสุ่มตรวจ 1 ตู้คอนเทเนอร์ เพื่อรักษาคุณภาพและชื่อเสียงทุเรียนของไทย หากตรวจพบทุเรียนอ่อนจะระงับการส่งออกทันที ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีปัญหาเรื่องราคาและไม่มีผู้รับซื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำในที่สุด อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ปาล์มน้ำมัน ก็มีปัญหา เช่นเดียวกับทุเรียน คือ แรงดึงดูดจากสถานการณ์ราคาที่ปรับตัวสูงถึง 3.50-4.50 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ชาวสวนปาล์มน้ำมันหลายพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตที่ยังไม่สุกแก่เต็มที่ป้อนเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถึงแม้เกษตรกรจะได้น้ำหนักมาก แต่เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่หีบได้จะต่ำมาก เช่น พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1-6 ปกติจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันเฉลี่ย 22-25% ถ้าเกษตรกรตัดทะลายปาล์มที่ไม่สุกแก่เต็มที่ส่งโรงงาน เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ได้จะลดเหลือประมาณ 16-17% เท่านั้น เมื่อโรงงานได้น้ำมันน้อย อนาคตเกษตรกรอาจถูกกดราคารับซื้อและปัญหาเรื่องตลาดจะตามมา ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน
...เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มทั้งปริมาณและคุณภาพสูงสุดต่อไร่ เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวทะลายผลปาล์มที่สุกพอดีส่งโรงงานโดยยึดมาตรฐาน คือ เก็บเกี่ยวระยะที่ผลปาล์มมีสีผิวเปลือกนอกเป็นสีส้มสดและเริ่มมีจำนวนผลสุกที่ร่วงหล่นรอบโคนต้นประมาณ 10-12 ผลต่อทะลาย ถือเป็นทะลายปาล์มสุกที่ใช้ได้ ไม่ควรตัดทะลายปาล์มที่ยังดิบอยู่ไปขายเพราะผลดิบยังมีสภาพเป็นน้ำและแป้ง ยังไม่แปรสภาพเป็นน้ำมัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรถูกตัดราคาได้... อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ..ถ้อยคำนี้ยังใช้ได้ดีเพื่อเตือนใจพี่น้องเกษตรกรมิให้ใจร้อนเกินไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์