นายเฉลิมพร พิรุณสาร เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรฯได้ส่งเสริมการ จัดตั้งนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงาน โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งบูรณาการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อกำหนดเป็นเขตพื้นที่เฉพาะหรือสร้างโซนนิ่ง (Zoning) แหล่งผลิตพืชสำคัญให้เป็นรูปธรรม มากขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติอาหารโลกและพลังงานทดแทนที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันได้จัดตั้งนิคมการเกษตรฯแล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง นำร่อง ในพื้นที่ 15 จังหวัด ซึ่งอยู่ในความ รับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 10 นิคม กรมส่งเสริมสหกรณ์ 4 นิคม กรม ชลประทานและกรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานละ 1 นิคม ครอบคลุมพื้นที่ไม่ น้อยกว่า 335,000 ไร่ มีเกษตรกรประมาณ 15,000 ราย แยกเป็น นิคมมันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา 40,000 ไร่ สระแก้ว 30,000 ไร่ นิคมอ้อย จ.กำแพงเพชร 50,000 ไร่ มุกดาหาร 10,000 ไร่ เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวอีกว่า ปี 2553 นี้ ส.ป.ก.ได้มีแผนเร่งส่งเสริมขยายพื้นที่นิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายสินค้าพืช 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยคัดเลือกนิคมการเกษตร 7 นิคม ประกอบด้วย นิคมการเกษตรข้าว จ.ฉะเชิงเทรา นิคมการเกษตรข้าว จ.สุพรรณบุรี นิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด นิคมการเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.ตาก นิคมการเกษตรมันสำปะหลัง จ.จันทบุรี นิคมการเกษตรข้าว จ.นครศรีธรรมราช และนิคมการเกษตรปาล์มน้ำมัน จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 110,000 ไร่.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์