ปัจจุบันปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ปลูกรวม 3.89 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 88 อยู่ในภาคใต้ จังหวัดที่ปลูกมาก คือ จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร รองลงมาเป็นภาคตะวันออกและภาคกลาง ร้อยละ 11 ส่วนภาคอื่น ๆ ร้อยละ 1 พื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้วมีประมาณ 3.19 ล้านไร่ ให้ผลผลิตปาล์มสด รวม 8.16 ล้านตัน สามารถสกัดน้ำมันปาล์มได้ 1.42 ล้านลิตร ผลผลิตน้ำมันปาล์มส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ ปริมาณ 8-9 แสนลิตร โดยนำไปผลิตไบโอดีเซล 3-4 แสนลิตร ที่เหลือส่งออกและเก็บสำรองเป็นสต๊อกภายในประเทศ สำหรับสถานการณ์การผลิตในปี 2553 คาดว่าจะมีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว รวม 3.6 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก ปี 2552 ประมาณ 440,000 ไร่ เนื่องจากมีการปลูกใหม่เมื่อปี 2550 ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และแหล่งผลิตเดิมในภาคใต้ ที่ปลูกทดแทนสวนไม้ผลเก่า เช่น ทุเรียน เงาะ กาแฟ รวมทั้งที่นา และพื้นที่ป่าพรุ พื้นที่ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้คาดว่าจะได้ผลผลิตปาล์มสด 10.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 1.9 ล้านตัน เนื่องจากสวนปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่เป็นปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี และอยู่ในช่วงให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนและสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม ส่งผลให้ต้นปาล์มให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากการเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มประเทศ อาเซียนตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลกระทบกับสินค้าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เนื่องจากประเทศคู่แข่ง คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำกว่าประเทศไทย ซึ่งหากมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มราคาถูกจากประเทศดังกล่าว จะมีผลกระทบทำให้ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำ และเมื่อวิเคราะห์ปัญหาการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันของไทย พบว่าต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.14 บาท/กิโลกรัม ในปี 2550 เป็น 2.58 บาท/กิโลกรัม ในปี 2552 (ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น เกษตรกรใช้ปุ๋ยในอัตราที่มากเกินความต้องการของพืช และพบว่าโครงสร้างต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 40 เป็นค่าปุ๋ยเคมี
สำหรับพืชปาล์มน้ำมัน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ โดยรัฐบาลให้แนวทางรองรับการเปิดเสรีสินค้าเกษตร คือ ขั้นที่ 1 การบริหารการนำเข้า ณ ด่านศุลกากร การเข้มงวดการตรวจใบรับรองต่าง ๆ เช่น ใบรับรองสุขอนามัย ขั้นที่ 2 เยียวยาเกษตรกรเพื่อให้สามารถผลิตเพื่อการแข่งขันได้ ขั้นที่ 3 ใช้มาตรการปกป้องพิเศษโดยการขึ้นค่าธรรมเนียมปกป้องทันทีเพื่อระงับผลกระทบชั่วคราว ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2551-2555 โดยใช้งบกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยจัดถ่ายทอดความรู้เป็นการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อแข่งขันได้ใน อนาคต ในการลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน โดยเกษตรกรควรตรวจวิเคราะห์ดิน และใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำเพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันได้รับธาตุอาหารอย่างเหมาะสม เป็นการลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมี และช่วยเพิ่มผลตอบแทนแก่เกษตรกร ...นอกจากนั้นเกษตรกรควรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มสุก ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง จะมีส่วนให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มสามารถสกัดน้ำมันได้เปอร์เซ็นต์สูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศลดลงตามไปด้วย.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์