โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร บนเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ ใน ต.เทพนคร และ ต.คณฑี อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เกิดขึ้นจากการได้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแนวพระราชดำริด้านการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ว่า การส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร มิใช่เพียงแต่พอสำหรับการดำรงชีพไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่ต้องหาทางเพิ่มพูนรายได้ให้เขามีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีหลักประกันสำหรับอนาคต แนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง การให้ความสำคัญของเกษตรกรที่ยากจน และให้โอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งหากเกษตรกรได้รับการสนับสนุนด้วยการนำเอาที่ดินมาจัดสรรอย่างเหมาะสม พร้อมได้รับความรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ และเทคโนโลยี การผลิตเข้ามาส่งเสริม จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการหาแหล่งเงินทุนเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วยแล้ว เกษตรกรไทยก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเกษตรกรในหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จจากการได้รับโอกาสนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว โครงการฯนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในอันที่จะพัฒนาประเทศด้านการเกษตร ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ ส่วนราชการเมืองกำแพงเพชร ธนาคารซีพีเอฟ และเกษตรกรทั้ง 64 ครอบครัวที่เป็นสมาชิกโครงการ ซึ่งความช่วยเหลือที่เกษตรกรได้รับเริ่มจากการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ใช้เลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูก รวมถึงการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสุกร และการสนับสนุนทุนหมุนเวียน ทั้งในด้านการเลี้ยงสุกรและการเพาะปลูก ตลอดจนการนำระบบการจัดการที่ครบวงจรมาใช้ในการดำเนินโครงการ โดยมีซีพีเอฟทำหน้าที่ให้ความรู้ ทางด้านเทคนิควิชาการสมัยใหม่ทางด้านการเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด โดยเกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของการตลาด
พิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย อายุ 35 ปี หนึ่งในสมาชิกโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เล่าให้ฟังว่าเขาและภรรยาช่วยกันเลี้ยงสุกรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และได้ขยายฟาร์มเลี้ยงแม่พันธุ์ 250 ตัวในปัจจุบัน เพราะมั่นใจว่า อาชีพเลี้ยงหมูพันธุ์นี้ มีความมั่นคงทั้งรายได้ และคุณภาพชีวิต ส่วนรายได้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความวิริยอุตสาหะ พยายามของตัวเอง เพราะโครงการเหมาะกับการทำการเกษตร มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องพร้อมอยู่แล้ว ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกพืช เลี้ยงปลา หรือการเกษตรอื่น ๆ ที่สำคัญ ซีพีเอฟ ก็สนับสนุนด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ และวิชาการทันสมัยมาถ่ายทอดให้เกษตรกรอยู่เสมอ ภายใต้การเลี้ยงสุกรที่มีการควบคุมโรคเป็นอย่างดี มีสัตวบาลเข้ามาให้คำแนะนำด้านการจัดการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไม่ต้องเสี่ยงกับตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ จากเริ่มต้นโครงการเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 4,000-6,000 บาทต่อเดือน กระทั่งปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 30,000-100,000 บาทต่อเดือน และยังมีอาชีพเสริมที่สร้าง รายได้ อาทิ การเลี้ยงปลาดุก การปลูกผักกระเฉดน้ำ และการจำหน่ายมูล สุกรแห้ง ทำให้มีรายได้เสริมประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อปี ที่สำคัญยังสามารถส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษา ที่ดี สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้หลายราย และบางครอบครัวยังได้มอบอาชีพนี้ส่งต่อแก่รุ่นลูกหลาน จนเข้าสู่รุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน เพื่อสืบสานอาชีพเลี้ยงสุกรให้พัฒนาก้าวหน้า ต่อ ๆ ไป ปัจจุบันหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชรกลายเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการตอบแทนคุณแผ่นดินของซีพีเอฟที่ได้มีส่วนร่วมยกระดับความรู้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ภายใต้ความตั้งใจ ขยันหมั่นเพียรและซื่อสัตย์ของเกษตรกรเอง ซึ่งสามารถก่อเกิดเป็นความสำเร็จให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์