วิกฤติน้ำโขงแห้งขอด กลายเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นที่ถกเถียงกันของหลายฝ่าย ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติสายสำคัญอันดับหนึ่งในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไหลผ่าน 6 ประเทศ เริ่มจากประเทศจีน ไหลผ่านประเทศพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม และจากการที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาตินี้เอง ทำให้มีพื้นที่รับน้ำมากถึง 800,000 ตารางกิโลเมตร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วย เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การสร้างเขื่อนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนยากจะคาดการณ์ได้ ด้วยสาเหตุจากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมนี้เอง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของราษฎรและความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่บริเวณต่าง ๆ ของแม่น้ำโขง ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาแหล่งน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรในบริเวณจังหวัดสกลนคร-นครพนม
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ให้พิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำฯ จังหวัดสกล นคร-นครพนม เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรบริเวณสองฝั่งของลำน้ำก่ำที่มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน และขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำเล็ก ๆ โดยลดขนาดความสูงของประตูระบายน้ำลงมา และเจรจากับราษฎรที่ครอบครองพื้นที่ถูกน้ำท่วม ทั้งนี้โดยให้กักเก็บน้ำในร่องน้ำแล้วให้ราษฎรสูบน้ำไปใช้เอง การดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริ ได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 7 แห่ง ซึ่งมีความจุรวมกันกว่า 33.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อระบายน้ำลงสู่น้ำก่ำตอนล่างในช่วงที่มีปริมาณน้ำมาก และเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง พร้อมกับการพัฒนาหนองบึงขนาดใหญ่จำนวน 13 แห่ง ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 11 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำจากลำน้ำก่ำ ตั้งแต่อำเภอเมืองสกลนครจนถึงอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ ตลอดสองฝั่งลำน้ำก่ำ เนื่องจากมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมคลองส่งน้ำอยู่เป็นระยะถึง 2 แห่ง ซึ่งสามารถส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ทำการเกษตรได้กว่า 38,000 ไร่ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลนี้เอง โครงการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ทำให้สามารถเพาะปลูกพืชไร่และทำนาปรังในเขตโครงการฯ ได้มากกว่า 2,000 ไร่ ในฤดูแล้ง โดยทำการเก็บกักน้ำตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งปัจจุบัน ประตูระบายน้ำทั้ง 7 แห่ง ยังมีปริมาณน้ำ ที่ใช้ประโยชน์ได้กว่า 15.1 ล้านลูกบาศก์เมตร และหนองบึงที่ได้พัฒนาให้เป็นแก้มลิงทั้ง 13 แห่ง ก็ยังมีปริมาณน้ำเหลืออีก 4.7 ล้านลูกบาศก์เมตร จากผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนราษฎรให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง และมีทางเลือกในการปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น.
tidtangkaset@dailynews.co.th
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์