ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงมากกว่าทุกปี ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ่ลางบอกเหตุตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนใหญ่ ๆ หลังจากสิ้นฤดูฝนยังน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้บางพื้นที่จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ขนาดกลางลดลงอย่างน่าเป็นห่วง มีปริมาณต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการใช้น้ำของเกษตรกรไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีการใช้น้ำมากกว่าแผนการจัดสรรน้ำถึงร้อยละ 107 หรือคิดเป็นปริมาณน้ำที่ใช้เกินแผนไปแล้วประมาณกว่า 1,380 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 27 เม.ย. 2553) นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปีนี้แม้หลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง สำหรับพื้นที่ในเขตชลประทานจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการทำนาปรังครั้งแรก หรือการปลูกพืชฤดูแล้งอื่น ๆ อย่างแน่นอน ส่วนการทำนาปรังครั้งที่ 2 จะไม่มีน้ำจัดสรรให้ เพราะกรม ชลประทาน จะต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ในช่วงการทำข้าวนาปี ซึ่งเป็นการทำนาของเกษตรกรส่วนใหญ่ด้วย เนื่องจากอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนมีน้อย
เกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานหากปฏิบัติตามที่กรมชลประทานแจ้งเตือนการทำนาปรัง 1 ครั้ง และนาปีอีก 1 ครั้ง จะไม่มีปัญหาขาด แคลนน้ำ และข้าวก็จะไม่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ทางด้านนายบุณสนอง สุชาติพงศ์ โฆษก กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้แจ้งเตือนและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้วว่า ไม่สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับการทำนาปรังครั้งที่ 2 ได้เหมือนเช่นปีที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ไปแล้วกว่าล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนน้ำหากฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตลอดจนพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งประเทศ รวม ทั้งการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างแหล่งน้ำทุกขนาดในลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ สามารถผันน้ำมาช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบภัย หรือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในปีนี้แหล่งน้ำหลักหรือแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำน้อยมาก กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งแหล่งน้ำต้นทุน คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณซึ่งมีปริมาณมากพอและสามารถนำน้ำมาช่วยเสริมได้ กรมชลประทานจึงได้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง อีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มาช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดความรุนแรงของภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำได้ระดับหนึ่ง วันนี้ หากประเทศไทยไม่มีโครงการพัฒนา แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และอีกหลาย ๆแห่งแล้ว สถานการณ์น้ำของประเทศไทยจะวิกฤติแค่ไหน ความเสียหายจะรุนแรงเพียงใด ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาอยู่ไม่น้อย.
kasettuathai@dailynews.co.th
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์