การคัดเลือกเกษตรกรด้านปศุสัตว์ ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในพระราชพิธีพืชมงคลจรด พระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 13 พฤษภาคม ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สำหรับสาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ คือ นาย ธนศักดิ์ คำด่าง อายุ 53 ปี การศึกษาปริญญาโท (ปฐพีวิทยา) ประเทศญี่ปุ่น อยู่บ้านเลขที่ 209 หมู่ที่ 4 ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เขามีความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคจากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ. 2534 เริ่มเลี้ยงโคเนื้อ 170 ตัว แต่ด้วยเพราะขาดความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ที่ปรึกษาองค์ความรู้และภาคีที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 นายธนศักดิ์ จึงได้ปรับระบบการเกษตรของตนเองเข้าสู่การเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยการขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำนาปลอดสารพิษ เลี้ยงสุกร เป็ดเทศ และไก่ไข่บนบ่อปลา ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล บทเรียนที่ได้จากการเลี้ยงโคเนื้อทำให้ นายธนศักดิ์ ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากเอกสารผู้รู้ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตทั้งด้านปศุสัตว์และการเกษตรภายในฟาร์มของตนเอง และจากความเป็นคนช่างสังเกตพบว่าเนื้อของไก่งวงเมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารจะมีรสชาติดี ถูกปาก และยังมีการเลี้ยงกันน้อยมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเกิดความสนใจที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพ ต่อมาได้มีโอกาสร่วมทีมวิจัย โครงการพัฒนาเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผลจากการวิจัยพบว่ามีปศุสัตว์ 4 ชนิด คือ แพะ หมูหลุม ไก่งวง และโคเนื้อ สามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้ จากนั้นนายธนศักดิ์ จึงได้เรียบเรียงประสบการณ์ ความรู้ ตลอดจนวิเคราะห์ศักยภาพของตนเองและได้ตัดสินใจเลือกชนิดปศุสัตว์ที่เหมาะสม คือ ไก่งวง ด้วยไก่งวงเป็นสัตว์ที่มีจุดที่น่าสนใจ คือ เลี้ยงยาก เนื้อมีรสดี ไม่มีผู้แข่งขัน และเข้าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเริ่มทำการเลี้ยงไก่งวง ในปี พ.ศ. 2547 โดยเริ่มจากพ่อพันธุ์ 7 ตัว แม่พันธุ์ 20 ตัว ทำการขายและพัฒนาการผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์ ในปี พ.ศ. 2548 ผลิตไก่งวงเพื่อเลี้ยงขุนจำหน่าย ปี พ.ศ. 2549 พัฒนาสายพันธุ์ไก่งวง โดยการคัดเลือกไก่เป็นพ่อแม่พันธุ์ 237 ตัว พ.ศ. 2550 มีพ่อแม่พันธุ์ รวม 300 ตัว และในปี พ.ศ. 2551-2552 เพิ่มแม่พันธุ์เป็น 370 ตัว สามารถผลิตไก่พันธุ์และไก่ขุนได้ ปีละ 10,000 ตัว ได้ขยายการผลิตโดยการสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่งวงในจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
นายธนศักดิ์ ยังได้สร้างตลาดด้วยการขยายเครือข่ายผู้ผลิตและกลุ่มผู้ซื้อและบริโภค โดยการสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่งวงและกระตุ้นการบริโภคเนื้อไก่งวงในชุมชนผ่านวัฒนธรรมพื้นบ้าน อาทิ งานบุญต่าง ๆ ทั้งประชาสัมพันธ์การบริโภคและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ไก่งวงด้วยวิธีการจำหน่ายเป็นเนื้อไก่งวงปรุงสุกพร้อมรับประทานให้แก่ร้านอาหารและหน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค ทำให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ...ทั้งยังได้รับการคัดเลือกจากอำเภอเมืองนครพนม จัดตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ในเรื่องการจัดการฟาร์มและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกด้วย.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์