นับแต่มีการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ซึ่งข้ามจากจังหวัดมุกดาหารไปยังแขวงสะหวันนะเขตของลาวเมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2007 คนไทยจำนวนไม่น้อยใช้เส้นทางนี้หรือเรียกว่า เส้นทาง R9 ไปประเทศเพื่อนบ้านคือลาว-เวียดนาม ส่วนเส้นทาง R12 คือเส้นทางจากจังหวัดนครพนมไปยังเมืองท่าแขกในแขวง คำม่วนของลาว จากนั้นตรงไปยังเส้นทางอาร์ 12 ผ่านด่านจาโหละ ของเวียดนามและฮาติงห์ก่อนเดินทางขึ้นสู่เมืองวิงห์และมุ่งตรงไปยังฮานอย เส้นทางอาร์ 12 จึงเป็นคู่แข่งที่สำคัญของอาร์ 9 เพราะอยู่ในแนวการค้าสายใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงไทยผ่านลาว-เวียดนามและไปถึงจีนตอนใต้โดยผ่านไปยังเมืองลังเซินและหนานหนิงได้เลย ผู้ประกอบการไทยหันมาใช้อาร์ 9 ขนส่งผลไม้ไปยังจีนเพราะสะดวกและสั้นกว่าเส้นทางอาร์ 9 และยังสะดวกกว่าเส้นทาง R3E (คุณหมิง-กรุงเทพฯ) ที่เชื่อมโยงจากเชียงของ จังหวัดเชียงรายไปยังคุนหมิง นอกจากนี้เส้นทางอาร์ 12 ยังเป็นเส้นทางที่สะดวกสบายเป็นถนนสองช่องจราจรและบางส่วนเป็นสี่ช่องจราจร นอกจากนี้ยังผ่านภูเขาน้อยกว่าและคดเคี้ยวน้อยกว่าเส้นทางอาร์ 9 และอาร์ 8 ที่สำคัญที่สุด การขนส่งจากกรุง เทพฯ-นครพนม ข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่าแขกแล้วใช้เส้นทางอาร์ 12 เชื่อมโยงไปจนถึงฮานอยมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการใช้เส้นทางอาร์ 9
สำหรับเส้นทางอาร์ 12 มีระยะทางโดยรวมคือ 1,383 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลา 26-29 ชั่วโมง กรมส่งเสริมการเกษตร นำโดยนายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดี ได้นำผู้สื่อข่าวและเกษตรกรเดินทางไปตามเส้นทางอาร์ 12 ด้วยมีการจัดงาน เมด อิน ไทยแลนด์ เอาท์เล็ท 2010 ณ กรุงฮานอย โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลไม้สดให้ชาวเวียดนามได้รู้จักและเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตผลไม้ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน และยังเป็นการขยายโอกาสทางการตลาดของผลไม้ไทยจากเวียดนามไปยังจีนได้มากขึ้น โดยคาดว่าในอนาคตเวียดนาม จะเป็นตลาดผลไม้ที่สำคัญของไทย รวมทั้งเป็นช่องทางผ่านผลไม้ไทยไปยังภาคใต้และฝั่งตะวันออกของจีน จากการสังเกตการณ์ถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อผลไม้ของชาวเวียดนามที่มีผลไม้ที่เกษตรกรไทยนำไปจำหน่าย ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน กล้วยไข่ และมังคุด และผลไม้ต่าง ๆ ที่นำไปจัดแสดงโชว์ เห็นได้ว่า ชาวเวียดนามสนใจมังคุด และทุเรียนมาก จนจำหน่ายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนกล้วยไข่ความสนใจน้อยกว่า ผลไม้ชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม กล้วยไข่ที่นำ มาจำหน่ายนั้น คุณภาพด้านความสวยงาม ของผลกล้วยได้รับผลกระทบจากการขนส่ง ดังนั้นในคราวต่อไปคงต้องพิจารณาถึงหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ด้วย ถึงกระนั้น กล้วยไข่ก็ เป็นที่สนใจของชาวเวียดนามไม่น้อย ในส่วนของนิทรรศการ ผลไม้ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากชาวเวียดนามคือ สละ และ ลองกอง ที่ชาวเวียดนามเข้ามาถามไถ่มิขาดสายพร้อมกับขอลองชิมรสชาติ แต่เนื่องจากทางกรมส่งเสริมการเกษตรจัดโชว์เท่านั้น มิได้จัดให้ชิม ชาวเวียดนามจึงมิได้ลิ้มรสชาติของผลไม้ไทยอย่างสละ และลองกอง ซึ่งเห็นได้ว่าการจัดแสดงแต่ไม่มีการให้ชิม ไม่ได้ก่อให้ชาวเวียดนามจดจำผลไม้เหล่านี้ได้แต่อย่างใด พอเดินจากไป ก็คงลืมผลไม้เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ใน โอกาสต่อไปหวังว่าทางกรมส่งเสริมการเกษตรคงจะเตรียมนำผลไม้ชนิดต่าง ๆไปให้ชาวต่างชาติที่เราไปประชาสัมพันธ์ให้รู้จักโดยการชิม พวกเขาจะได้ประทับใจไม่ลืมในเรื่องรสชาติของผลไม้ไทยที่ขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพและรสชาติอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ชาวเวียดนามก็ได้ทดลอง ชิมผลไม้ที่เจ้าหน้าที่ของไทยได้ฝานและตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้คนชิมพอรับรู้ถึงรสชาติ ของมะม่วง ทุเรียน มังคุดและกล้วยไข่ (ที่เกษตรกรนำไปจำหน่าย) พร้อมทั้งได้ตอบแบบสอบถามเพื่อที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วย จากการสัมภาษณ์ เจ๊เฟื่อง ชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้ไทยรายใหญ่ เพื่อจำหน่ายในตลาดเวียดนามและส่งต่อไปจีนถึง 30% นางบอกว่า สินค้าของไทยราคาสูงกว่าจากจีนและจากเวียดนามเอง แต่เมื่อ ผู้บริโภคเห็นว่าเป็น เมดอินไทยแลนด์ เขาก็จะเชื่อถือในคุณภาพมากกว่าผลไม้ที่นำเข้าจากที่อื่น รวมทั้งรสชาติของผลไม้ไทยก็ดีกว่าด้วย ซึ่งที่เวียดนามก็มีมังคุดเช่นกัน แต่ชาวเวียดนามชอบมังคุดจากไทยมากกว่า นอกจากมังคุด เจ๊เฟื่องยังนำเข้าผลไม้จากไทยคือ ส้มโอ ลำไย มะม่วง (เขียวเสวย, ฟ้าลั่น) นับจากนี้ไปเวียดนามคงเป็นตลาดผลไม้ที่สำคัญของเกษตรกรไทย เนื่องจากผลไม้ไทยมีความหลากหลายในเรื่องของรสชาติ ทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทำให้ผลไม้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์