นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล
คาดช่วยให้ เกษตรกรบริหารการเงินได้ หลังจากการประเมินพบ ต้องเฝ้าระวังฐานะทางการเงินเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนมีมากที่สุดถึง 547 แห่ง ดดยมี มีจำนวนลูกหนี้ชำระต่ำกว่าเกณฑ์จำนวน 691 แห่ง... นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประเมินโดยใช้ตัวชี้วัดทางการเงิน ได้แก่ ลูกหนี้ ค่าใช้จ่าย และทุนสำรองการชำระอัตราลูกหนี้ในช่วงปีที่ผ่านมาตามกำหนดของภาคสหกรณ์ไทยพบว่าส่วนใหญ่การชำระเงินกู้ตามระบบไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยสหกรณ์ที่มีค่าใช้จ่ายต่อกำไรสูงเกินกว่าเกณฑ์มีอยู่จำนวน 3,843 แห่ง สหกรณ์ที่มีอัตราทุนสำรองต่อสินทรัพย์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 6,294 แห่ง และสหกรณ์ในภาคการเกษตร ซึ่งมีอยู่จำนวน 833 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวพบว่าต้องเฝ้าระวังฐานะทางการเงินเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนมีมากที่สุดถึง 547 แห่ง หรือประมาณ 65.67 เปอร์เซ็นต์ "จากการประเมินดังกล่าวหากแยกตามภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน่าห่วงสุด มีจำนวนลูกหนี้ชำระต่ำกว่าเกณฑ์จำนวน 691 แห่ง และมีสหกรณ์ที่มีอัตราค่าใช้จ่ายต่อกำไรสูงเกินกว่าเกณฑ์ 1,326 แห่ง ทุนสำรองต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2,123 แห่ง และต้องเฝ้าระวังทางการเงินเป็นพิเศษ 373 แห่ง หรือร้อยละ 44.78 ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าภาคสหกรณ์ไทยกว่าร้อยละ 50 เป็นสหกรณ์ขนาดกลาง-เล็ก และยังไม่มีการจัดจ้างพนักงานบัญชีถึงร้อยละ 41.25 ดังนั้นจึงทำให้ภาวะทางการเงินสุ่มเสี่ยงได้ง่าย" อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การบริหารจัดการสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการเงิน กรมตรวจบัญชีฯจึงได้จัดโครงการภูมิปัญญาทางบัญชี สร้างวิถีสู่อนาคตขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ เกษตรกรที่ผ่านการอบรมสามารถรู้ รายรับ รายจ่าย ต้นทุน กำไร หนี้สิน และแนวทางการประหยัด เป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับภาคสหกรณ์อย่างยั่งยืน สำหรับสหกรณ์ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ใกล้บ้าน ในวันเวลาราชการ.
ที่มา : ข่าวไทยรัฐ ออนไลน์