วันนี้( 12 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศอยู่ในระดับวิฤกติซึ่งปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีอยู่รวมกัน 8,720 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นซึ่งเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กังวลในเรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคและการปล่อยระบายน้ำเพื่อดัน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรและการทำน้ำประปา
โดยนายกฯได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและให้รายงานสถานการณ์น้ำต่อนายกรัฐมนตรีทุกวัน โดยตนได้สั่งการให้กรมชลประทาน ทำรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสภาพปัญหาที่มีการใช้นำเกินแผนที่วางไว้เพราะมีการปลูกพืชเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปี ซึ่งได้จัดสรรน้ำจากเขื่อนทั้งสองแห่ง เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้งปี52/53 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมกันจำนวน 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตรร่วมกับการใช้น้ำจากเขื่อนแควน้อยฯ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักฯ600 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยได้กำหนดแผนการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้ทั้งสิ้น5.95 ล้านไร่ แยกเป็นในเขตชลประทาน 4.45 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.5ล้านไร่ ทั้งนี้ จากปริมาณน้ำดังกล่าวที่มีอยู่อย่างจำกัด กรมชลประทานได้แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้งดทำนาปรังครั้งที่ 2เพราะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุน แต่เนื่องจากในช่วงต้นปี 53 ที่ผ่านมาราคาข้าวมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง(ณ 30 เม.ย. 53)เพิ่มมากขึ้นถึง 9.61 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึง 3.66 ล้านไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 162 ของแผนที่กำหนดไว้ส่งผลให้มีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น และไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้โดยมีการใช้น้ำเกินแผนไปถึง 2,339 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายธีระ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้จากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน(ณ 11พ.ค. 53) เหลืออยู่เพียง 1,487 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้นในขณะที่ความต้องการใช้น้ำขั้นต่ำสุด เพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน53 มีดังนี้ การใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคในพื้นที่ตอนท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เหนือจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณวันละ 6.91 ล้านลูกบาศก์เมตร การใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคในพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ประมาณวันละ 6.53ล้านลูกบาศก์เมตร การประปานครหลวง ประมาณวันละ 3.89 ล้านลูกบาศก์เมตรและการรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม(แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน)ประมาณวันละ 2.67 ล้านลูกบาศก์เมตรรวมปริมาณน้ำใช้การทั้งหมดประมาณวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นการใช้น้ำจากปัจจุบันถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 53 ประมาณ 1,000ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหมายความว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 53จะเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกันเพียง500 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น
นายธีระ กล่าวเตือนว่า เพื่อมิให้เกิดผลเสียหายต่อข้าวนาปี ขอให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปีออกไปก่อนเพราะประเมินจากสภาพอากาศและการเกิดฝนในปีนี้คาดการณ์ว่าฝนจะทิ้งช่วงประมาณหนึ่งเดือน ขอให้ชาวนารอจนกว่าฝนจะเริ่มตกชุกจึงเริ่มลงมือเพาะปลูก ซึ่งจะมีปริมาณน้ำท่าเพียงพอต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้หากในช่วงเดือนมิถุนายนมีฝนตกชุก ก็อาจจะเลื่อนการทำนาปีให้เร็วขึ้นได้
ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะประกาศให้ทราบทันที ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมชลประทาน ร่วมหารือวางแผนการบริหารจัดการน้ำกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกรมอุตุนิยมวิทยา หากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานเพื่อวางมาตรการใช้น้ำให้เพียงพอจนกว่าจะถึงฤดูฝน อย่างไรก็ตามจะไม่ปล่อยน้ำให้กับการเกษตรเพิ่มเหมือนที่ผ่านมาเพราะอาจะเกิดปัญหาน้ำเค็มหนุนเข้ามาจนถึงภาคกลางทำให้กระทบเทือนการผลิตน้ำประปาซ้ำรอยปี 2536 ได้
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์