พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ จนถึง พ.ศ. 2479 จึงได้ว่างเว้นไประยะหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2503 ได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นอีกครั้ง และทำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ. 2509 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย เพื่อเสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ และทำนายสภาพดินฟ้าอากาศและผลผลิตที่จะงอกเงยในฤดูกาลเกษตรที่กำลังจะเริ่มขึ้น เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและเกษตรกรรม ก็เป็นอาชีพหลักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงถือว่าเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกประจำปี พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี เนื่องจากระยะนี้เป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่มิได้กำหนดวันที่แน่นอน โดยพิจารณาว่าวันใดมีฤกษ์ยามเหมาะสมก็ให้จัดในวันนั้น และในพระราชพิธีฯจะมี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ จะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สำหรับในปีนี้ผู้ที่ทำหน้าที่พระยา แรกนา คือ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นปีแรก เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณุทนาถ โคตรพรหม และ นางสาวสุนีลา รู้สุกิจกุล ส่วนเทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวสรชนก วงศ์พรม และ นางสาวเดือนเพ็ญ ใจคง สำหรับพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้าและพระโคใส ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเทิดและพระโคทูน
และเนื่องในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกรประจำปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึง ได้ทำการคัดเลือกและพิจารณาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงานแก่สาธารณชน โดยคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ เป็นประจำทุก ๆ ปี นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมงเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2553 นี้ สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประเภทสหกรณ์การเกษตรทั่วไป ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว จำกัด ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ประเภทสหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมพิมาย จำกัด ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ประเภทสหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมท่าแซะ จำกัด ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ประเภทสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำมะกอกเหนือ จำกัด ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ประเภทสหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยาง ในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านทางเกวียน จำกัด ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ ครูกาฬสินธุ์ จำกัด ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ และประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนักบุญเปโตร จำกัด ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่วนกลุ่มเกษตรดีเด่นประเภทกลุ่มเกษตรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรทำนาป่าคาย ต.ป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ประเภทกลุ่มเกษตรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรทำสวนควนเมา ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง ประเภทกลุ่มเกษตรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรทำไร่ด่านแม่ละเมา ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี นโยบายในการยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงานแก่สาธารณชน เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการสูงและก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการพิจารณาเป็นสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติเหล่านี้ จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2553 ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์