นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ในการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรโดยผ่านกลไกหลักของ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารศูนย์เป็นผู้บริหารจัดการ ในการนี้จึงได้กำหนดให้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบลและบูรณาการเข้าสู่แผนพัฒนาท้องถิ่นสามปี เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนทางด้านการเกษตร ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรในการมุ่งสร้างรายได้ให้ มีความมั่นคงและความยั่งยืนของอาชีพ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดแนวทางพัฒนาด้านส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ ซึ่งมีขั้นตอนและแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล ดังนี้ 1. ศึกษานโยบายทิศทางการพัฒนา และสำรวจข้อมูลพื้นฐาน เช่น ต้องพิจารณานโยบายทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตรจากแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้นยังต้องสำรวจศักยภาพ โอกาส สภาพปัญหา และความต้องการด้านการเกษตรของประชาชนในท้องถิ่น โดยวิเคราะห์กลั่นกรองจากแผนพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ข้อมูลพื้นฐาน บัญชีครัวเรือน ฯลฯ 2. การ วิเคราะห์ข้อมูลจากสภาพ แวดล้อมเพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคาม นอกจากนั้นยังต้องวิเคราะห์แนวโน้มด้านการเกษตรเพื่อเป็นข้อมูลดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต 3. การกำหนดกิจกรรมต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงบทบาทความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโครงการเชิงสร้างสรรค์ อาทิ การใช้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ ความจำเป็นของโครงการ หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหาย ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งด้านเทคนิคงบประมาณ ระยะเวลาการวิเคราะห์ผลทางลบ และ 4. การจัดแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบลและการเสนอแผน รูปแบบแผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล ใช้เหมือนปีที่ผ่านมา เสนอคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่น อปท.และส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดเก็บไว้ใช้เป็นประโยชน์ใน ศบกต. นายอรรถ อินทลักษณ์ กล่าวต่อว่า ถือเป็นขั้นตอนและแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรระดับตำบล ที่คณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ นำมาพิจารณาเพื่อจัดทำแผนฯ ให้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น และเกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์