ม.ล.จิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รองเลขาธิ การคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการชลประทานและการกระจายน้ำบนอุทยานเกษตรฯ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ที่ผ่านมาก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมศูนย์สัญจรโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ดร. พงษ์ศักดิ์ สุริยวนากุล รองอธิการบดีฯและ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวพงษ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ ห้องพระพิรุณ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งหลังจากที่คณะศึกษาดูงานรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมโครงการชลประทานและระบบการกระจายน้ำแล้ว จึงได้ศึกษาดูงาน ณ พื้นที่อุทยานเกษตรฯ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ และอุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เป็นวิทยา เขตที่ 4 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เปิดการเรียนการสอน ในระดับอุดมศึกษา ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2539 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเป็นการขยายโอกาสการศึกษาไปยังภูมิภาค จึงได้ก่อตั้งวิทยาเขตที่ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บนพื้นที่ 4,700 ไร่ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยา เขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานที่อาคารบริหารของวิทยาเขต เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539
นอกจากนี้ยังได้สานต่อพระราชดำริโดยเมื่อปี 2545 ได้จัดทำฟาร์มตัวอย่าง ในลักษณะคลินิกเกษตร บนพื้นที่ 2,000 ไร่ เป็น อุทยานเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร ที่พระราชทานพระราชดำริให้แก่เกษตรกรไทย พร้อมทั้งจัดให้เป็นสถานที่ทดลองสำหรับงานวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ และในปี 2547 เป็นปีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดโครงการ อุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรัง 72 พรรษา บรมราชินีนาถ ที่เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชนิดดินและพืชพันธุ์ที่สำคัญต่อวิถีชีวิต ของชาวบ้านในพื้นที่ป่าเต็งรังของวิทยาเขตฯ ประมาณ 1,000 ไร่ และจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอุทยานป่าเต็งรังและพรรณไม้ ในอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังฯ พร้อมกันนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการจัดทำระบบการกระจายน้ำภายในอุทยานเกษตรฯ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ เพื่อเป็นต้นแบบในการให้น้ำแบบต่าง ๆ ให้เกษตรกรหรือผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน และเพื่อให้นิสิตได้ศึกษาวิจัยในแปลงจริงด้วย อาทิ เพื่อรองรับการปลูกธัญพืชและพืชอาหารสัตว์ การปลูกธัญพืชและพืชเศรษฐกิจ การปลูกอ้อย ข้าวโพด และพืชไร่ การปลูกอ้อย ข้าวโพด และพืชเศรษฐกิจ การปลูกพืชผักและปาล์มน้ำมัน การปลูกพืชสวนและสมุนไพร การปลูกพืชพลังงานทดแทนและสบู่ดำ และเพื่อรองรับการปลูกไม้ผล เพื่อให้นักศึกษาและผู้สนใจได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงได้ เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนครที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ศึกษา วิจัยและทดลองทางด้านวิชาการเมื่อศึกษาจนเป็นผลสำเร็จแล้วได้ขยายผลสู่ราษฎร ซึ่งราษฎรสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งปัจจุบันประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่งสามารถขยายสู่การปฏิบัติให้กับเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างสมบูรณ์ เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาดูงานของคณะจากสำนักงาน กปร. ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความรู้ของบุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านการประสานงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปขยายผลสู่การดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์