ในการดำเนินกิจการการเกษตรประเภทต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการนำวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี รูปแบบเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และความแปลกใหม่มาสู่กิจการเพื่อความทันสมัยและก้าวล้ำไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าอดีตแต่คงความเป็นเอกลักษณ์ของเกษตรกรไว้อย่างมีคุณค่า แหล่งเลี้ยงหอยนางรมและหอยแครงที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบ้านดอน อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี จะห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร มีเกษตรกรหลายรายดำเนินกิจการหนึ่งในนั้นก็มีนายสมชาย สินมา โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพิสันต์ ประทานชวโน รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุทธา สายวาณิชย์ ผอ.สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายสมพร อรุณรัตน์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคณะ ได้เข้าไปเยี่ยมชมกิจการของฟาร์ม โดยฟาร์มแห่งนี้ เป็นหนึ่งในอีกหลาย ๆ ฟาร์มที่ดำเนินการเลี้ยงหอยนางรม หอยแครง และหอยแมลงภู่ ในบริเวณอ่าวบ้านดอน ที่มีเนื้อที่กว่าแสนไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอของ จ.สุราษฎร์ธานี มีเกษตรกรที่เลี้ยงหอยนางรม หอยแครง หอยแมลงภู่ มากกว่า 300 ราย โดยแต่ละรายนั้นจะมีการปลูกสร้างขนำ (กระท่อม) กลางทะเลไว้คอยดูแล เฝ้ารักษาหอยนางรม หอยแครง และหอยแมลงภู่ไม่ให้พวกมิจฉาชีพเข้ามา ขโมยในยามวิกาล นายสมชาย เล่าถึงการเลี้ยงหอยนางรมไว้อย่าง น่าสนใจว่า หอยนางรมดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการดูดน้ำรอบ ๆ ตัวเข้าไปทางด้านหนึ่งและปล่อยทิ้งออกอีกด้านหนึ่ง อาหารและก๊าซออกซิเจนจะเข้าไปพร้อมกับน้ำ อาหารของหอยนางรม ได้แก่ แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ ตอนสัตว์ที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ การเลี้ยงหอยนางรมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้สภาพน้ำ อากาศนั้นคงที่และบริสุทธิ์เพื่อที่จะให้หอยนางรมมีความสมบูรณ์มากที่สุดและเป็นที่ต้องการของตลาด
โดยทั่วไปแล้วการเลี้ยงก็ใช้วิธีการเลี้ยงในกระบะไม้ การเลี้ยงโดยใช้แท่งซีเมนต์ การเลี้ยงโดยใช้หลักไม้ การเลี้ยงโดยใช้หลอดหรือท่อซีเมนต์ และการเลี้ยงแบบพวงอุบะแขวน ซึ่งในแต่ละฟาร์มนั้นมีวิธีการที่เลี้ยงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และความเชี่ยวชาญของเกษตรกรผู้เลี้ยง โดยฟาร์มของตนนั้นจะมีการเลี้ยงในหลายรูปแบบและมีการอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศในชุมชนควบคู่กันไปด้วยเพื่อผลผลิตจากฟาร์มและสังคมที่เราอาศัยอยู่ นายสมชาย เล่าต่อว่า ในปี 45 ได้เกิดแนวความคิดที่จะพัฒนาปรับรูปแบบการทำฟาร์มหอยมาเป็นสถานที่เรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจ ภายใต้คำขวัญ ชิมหอยนางรม ชมขนำกลางทะเล พักฟาร์มสเตย์ มนต์เสน่ห์อ่าวบ้านดอน โดยวัตถุประสงค์ในการพัฒนาฟาร์มเลี้ยงหอยธรรมดามาเป็นฟาร์มสเตย์นั้น เพื่อเป็นที่พักผ่อนแห่งใหม่ พร้อมกับเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของการทำอาชีพต่าง ๆ ของชาวประมง อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้อาชีพประมงกับสิ่งแวดล้อมป่าชายเลนให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจ สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมนั้น ได้มีการนำเยาวชนในท้องถิ่นมาเป็นมัคคุ เทศก์น้อยเพื่อเป็นผู้นำนักท่องเที่ยวชมการสาธิตการเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยแครง ขั้นตอนการเลี้ยงจนถึงการเก็บเกี่ยว, การแกะหอยเพื่อการบริโภค รวมถึงการนำนักท่องเที่ยวทำกิจกรรมการวาง อวนเพื่อดักปลา, ปู, กุ้ง, การช้อนปลากระบอก การคราดหอยแครง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการปลูกป่าชายเลนด้วย.
อรุณี วิทิพย์รอด-นพปฏล รัตนพันธ์
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์