เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า สถานการณ์ ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงมากกว่าปี ที่ผ่านมาอย่างมาก สังเกตได้ จากตัวเลขความเสียหายของภาคเกษตร ที่ได้รับความเสียหายทั้งอย่างสิ้นเชิงและบางส่วนนั้น มียอดสูงขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเสียหายในวงกว้าง นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ถึงเรื่องนี้ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในการปลูกพืชฤดูแล้ง ทั้งนอกและในเขตชลประทาน เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกรสำหรับนำมาเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการจัดสรรน้ำ เพราะจะทราบว่ามีเกษตรกร ปลูกพืชชนิดใดบ้าง จำนวนพื้นที่เท่าไร จึงสามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเหมาะสม โดยในส่วนของเกษตรกรที่อยู่ใน แผนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทาน นั้นไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากมีน้ำที่ จัดสรรให้อย่างแน่นอน แต่เกษตรกรที่อยู่นอกเขตที่กำหนดโดยเฉพาะเกษตรกรที่ ทำนาปรังรอบสองนั้นคงต้องประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพออย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤติ ไม่สามารถนำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ทำนาปรังได้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบมาอย่างต่อเนื่อง และก็ต้องยอมรับว่าไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ทอดทิ้งเกษตรกรเหล่านี้ ยังคงช่วยเหลือและดูแลอย่างเต็มที่
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งนั้น ถ้าจังหวัดใดประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จะมี งบประมาณของทางจังหวัดช่วยเหลือในส่วนหนึ่ง ส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้จัดสรรงบประมาณให้ความช่วยเหลือในการชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรตามขั้นตอนปกติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ การทำฝนหลวง หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมด้วย ที่สำคัญกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่พร้อมจะติดตามสถานการณ์จากทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อรายงานมายังส่วนกลางในการแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที ทั้งนี้ การปฏิบัติการทำฝนหลวงในช่วงที่ผ่านมาก็พอช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากการทำฝนหลวงต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายอย่าง อีกทั้งขณะนี้ดินมีความแห้งผาก การใช้ฝนหลวงก็ช่วยทำให้ดินชุ่มชื้นได้แค่นั้น แต่ไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำหรือเขื่อนให้เพียงพอ ต่อความต้องการได้ จึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้น้ำอย่างระมัดระวัง ถึงแม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าฝนจะตกมากในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ก็ตาม เพราะขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงกว่าเกณฑ์มาก จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการให้น้ำกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น จึงไม่ควรประมาท นายอภิชาต กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่าขณะนี้ มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว 30,000 กว่าหมู่บ้าน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วที่มีเพียง 19,000 กว่าหมู่บ้าน และในส่วนภาคเกษตรมีพื้นที่เสียหายแล้ว 17 จังหวัด แบ่งเป็นความเสียหายที่เกิดกับพืช 15 จังหวัด และภาคปศุสัตว์ 3 จังหวัด รวมพื้นที่กว่า 319,000 ไร่ โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิงแล้ว 30,000 ไร่ ส่วนอีก 200,000 กว่าไร่ เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เสนอคณะรัฐมนตรีในการตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดตั้ง ศูนย์บรรเทาอุบัติภัย ที่มีเกษตรจังหวัดเป็นประธาน เพื่อคอยติดตามสถานการณ์อุบัติภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือภัยจากโรคแมลงศัตรูพืชระบาด เพื่อแจ้งข้อมูลมายังส่วนกลาง สำหรับกำหนดแนวนโยบายในการช่วยเหลือต่อไป แนวทางต่าง ๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการนั้นสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เกษตรกรจึงควรลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง โดยเฉพาะควรติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งต่อผลผลิตและทรัพย์สิน อย่ารอคอยความหวังจากการช่วยเหลือชดเชยเงินจากทางภาครัฐอย่างเดียว เพราะนั่นคงไม่ใช่หนทางออกที่ดีนัก เพราะมันจะกลายเป็นได้ ไม่คุ้มเสีย.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์