ดร. ไชยยันต์ เกสรบัว นายสัตวแพทย์ หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กองทุนฟื้นฟูนกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยดำเนินการปล่อยนกอินทรีทุ่งหญ้าสเตปป์ เป็นตัวเมียชื่อ ปีใหม่ และอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 1 ตัว เป็นตัวเมียเช่นกันชื่อสงขลา คืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี อันเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตั้งอยู่บนเส้นทางอพยพสายตะวันตก ซึ่งเป็นช่วงระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม เป็นฤดูกาลอพยพผ่านของนกอพยพเพื่อเดินทางกลับถิ่นไปผสมพันธุ์ที่เขตอบอุ่นแถบเหนือ ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่เหมาะสมในการนำไปปล่อยบนเส้นทางอพยพเพื่อให้อพยพกลับไปถิ่นกำเนิดเขตอบอุ่น เช่น ไซบีเรียของประเทศ รัสเซีย ประเทศจีนและมองโกเลีย อันเป็นแหล่งทำรังวางไข่ สำหรับนกอินทรีทุ่งหญ้าสเตปป์ ชื่อปีใหม่ถูกพบที่ระนอง ส่วนอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยที่ชื่อสงขลา พบ ที่สงขลา ซึ่งนกทั้งสองตัวขาดอาหารขณะบิน อพยพเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 และได้รับการดูแลโดยหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนสุขภาพแข็งแรงบินได้อีกครั้ง และเพื่อศึกษาเส้นทางการเดินทางอพยพกลับถิ่นกำเนิดในครั้งนี้ ทางหน่วยฟื้นฟูฯ จึงติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมบนตัว อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย เพื่อติดตาม การเดินทางหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
นกอินทรีทุ่งหญ้าสเตปป์ เป็นนกอินทรีขนาดใหญ่ อพยพเข้าอาศัยในฤดูหนาว ปีกยาว 2 เมตร เมื่อวัดจากปลายปีกสองด้าน น้ำหนักตัว 3-4 กิโลกรัม ทำรังวางไข่ในฤดูร้อนที่ไซบีเรียของ ประเทศรัสเซีย ภาคตะวันตกของจีน มอง โกเลีย และภูมิภาคเอเชียกลาง พบจำนวนน้อยในประเทศไทย ล่าหนูนาเป็นอาหาร จึงช่วยลดความเสียหายต่อนาข้าวและการแพร่เชื้อโรคฉี่หนูที่มีหนูนาเป็นพาหะ อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย เป็นนกอพยพขนาดใหญ่ ปีกยาวเกือบ 3 เมตร เมื่อวัดปลายปีกทั้ง 2 ด้าน น้ำหนักตัว 7-8 กิโลกรัม แม้ว่าทางอนุกรมวิธานถือว่าเป็นนกล่าเหยื่อแต่กินซากสัตว์ตายแล้ว ไม่ล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร ทำรังวางไข่ที่เทือกเขาหิมาลัย ในประเทศไทยจากรายงานการพบอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยฤดูหนาว พบว่าจะบินอพยพเข้ามาในประเทศไทย ระหว่างเดือนธันวาคมและมกราคมกว่า 10 ตัวทุกปี แต่ยังขาดข้อมูลยืนยันว่า นกกินซากขนาดใหญ่ชนิดนี้อพยพมาจากประเทศใดกันแน่ ที่ผ่านมา โครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ได้ปล่อยอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยจำนวน 10 ตัว เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2552 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพบว่าอีแร้ง 1 ตัวบินกลับไปถึงมณฑลจี้หลิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นระยะทางกว่า 3,900 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 3 เดือน 11 วัน นับได้ว่าเป็นความสำเร็จของโครงการฯที่ได้ช่วยชีวิตการเดินทางย้ายถิ่นฐานของนกเหล่านี้ ซึ่งเป็นตำราที่มีชีวิตสำหรับงานด้านอนุรักษ์และสัตวแพทย์ที่ดียิ่ง สำหรับนกล่าเหยื่อในประเทศไทย อาทิ เหยี่ยว นกอินทรี อีแร้ง และนกเค้าแมว ล้วนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 การมีครอบครองไว้เป็นสัตว์เลี้ยง ทำร้ายให้บาดเจ็บหรือตาย ถือว่าผิดกฎหมายและส่งผลกระทบต่อประชากรของพวกมันในธรรมชาติ ลดจำนวนลงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หากพบเห็นนกล่าเหยื่อบาดเจ็บ ขาดอาหาร หรือพบการลักลอบซื้อขายเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง หรือแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายได้ที่ สายด่วน 1362 ศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอรับคำ แนะนำ และการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์