นายวีระ วงศ์แสนนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้จะสิ้นสุดฤดูแล้ง และเริ่มมีฝนตกลงมาแล้ว ก็ตาม แต่ในเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งคงเหลือปริมาณน้ำเก็บกักน้อยและมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนปริมาณต่ำ บางแห่งไม่มีเลย เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวง เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนทับเสลา เป็นต้น จำเป็นจะต้องควบคุมการบริหารน้ำอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ขณะนี้เหลือปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 7 ของความจุที่ระดับเก็บกัก ทำให้กรมชลประทานต้องลดการระบายน้ำจากทั้ง 2 เขื่อน เหลือแค่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยระบายน้ำ 30-50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยจะระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้น้ำเกินแผนที่กำหนดไว้ถึง 2,339 ล้านลูกบาศก์เมตร จำเป็นจะต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ในกรณีเกิดฝนทิ้งช่วงในช่วงต้น ฤดูฝน อย่างไรก็ ตามในฤดูแล้งที่ผ่านมากรมชลประทานประสบ ผลสำเร็จ ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ที่ประสบภาวะวิกฤติปริมาณน้ำ ต้นทุนมีน้อย แต่สามารถจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการได้ ซึ่งประกอบด้วย เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อน ลำตะคอง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนทับเสลา เขื่อนสียัด และเขื่อนขุนด่านปราการชล กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำโดยเชิญผู้บริหารระดับจังหวัด ผู้บริหารระดับอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือกำหนดข้อตกลงการใช้น้ำร่วมกันว่า จะใช้ในกิจกรรมอะไรบ้าง สามารถจัดสรรน้ำเพื่อทำนาปรัง การปลูกพืชผัก และพืชฤดูแล้งอื่น ๆ ได้หรือไม่ ถ้าได้มีจำนวนกี่ไร่ พื้นที่ไหนบ้าง ตลอดจนช่วยกันวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้สามารถส่งน้ำ ที่มีจำกัดได้ทั่วถึง โดยจะให้ความสำคัญในการส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์