ปัจจุบันแหล่งน้ำส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่าร้อยละ 80 ประสบปัญหาคุณภาพเสื่อมโทรมลง นอกจากส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ในด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว มลพิษทางน้ำยังเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำในประเทศอีกด้วย และปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางน้ำมาจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ที่ใช้สารเคมีมากขึ้น อีกทั้งประชากรมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นทำให้มีการระบายน้ำเสียจากครัวเรือนสู่แม่น้ำลำคลองเพิ่มขึ้นอย่างเห็น ได้ชัด เกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งล่าสุดได้มอบหมายให้ กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) เร่งดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการเกิดภัยแล้งซ้ำซากและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำมากและปานกลาง
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า จากภาวะปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทำให้กรมทรัพยากรน้ำต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน โดยได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2552-2554) ซึ่งจะเน้นให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก มีเป้าหมายฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก จำนวน 6,552 แห่ง ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 14,942 ล้านบาท ทั้งนี้แหล่งน้ำที่จะฟื้นฟูอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,189 แห่ง งบประมาณ 4,887 ล้านบาท ภาคเหนือ 2,011 แห่ง งบประมาณ 4,527 ล้านบาท ภาคกลาง 846 แห่ง งบประมาณ 3,815 ล้านบาท และภาคใต้ 2,506แห่ง งบประมาณ 1,713 ล้านบาท เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าจะเพิ่มความจุเก็บกักน้ำได้ถึง 834 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนได้ ถึง 359,562 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.19 ล้านไร่ นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำจะขออนุมัติงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยวางเป้าหมายไว้ประมาณ 2,500 แห่ง เพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับน้ำในช่วงต้นฤดูฝน และสำรองน้ำเพื่อนำไปใช้ในช่วงฤดูแล้งในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กก็จะทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งระยะยาวและต่อเนื่องแบบสะสม จากการเร่งฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าว ทางกรมทรัพยากรน้ำ ยังได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งตรวจสอบประสิทธิภาพของประปาหมู่บ้าน พร้อม เร่งดำเนินการปรับปรุงเพื่อรองรับผลจาก การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าวซึ่งขณะนี้มีประปาหมู่บ้านที่ต้องเร่งซ่อมแซมให้สามารถใช้การได้เกือบ 20,000 แห่ง และยังมีหมู่บ้านที่ต้องเร่งจัดทำประปาหมู่บ้านเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 5,000 หมู่บ้าน ปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้งซ้ำซาก ส่วนใหญ่มักเกิดกับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยประมาณ 91 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ยังขาดการดูแลอย่างจริงจัง นายเกษมสันต์ กล่าว.
tidtangkaset@dailynews.co.th
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์