แม้ว่าสถานการณ์สินค้าเกษตรในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะมีทั้งสินค้าที่มีอนาคตสดใสราคาพุ่ง และสินค้าที่ประสบปัญหาทั้งภัยแล้งและโรคแมลงศัตรูพืชระบาดทำลายผลผลิตอย่างหนัก ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นสามารถเป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์ในอนาคตได้ว่าภาพรวมของภาคเกษตรในปีนี้จะเป็นเช่นไร โดยล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังไว้แล้วว่ามีแนวโน้มอย่างไร นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่ สศก.ได้ วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจตัวหลัก ๆ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด มีแนวโน้มราคาที่ดีขึ้น โดยในส่วนของข้าวนั้น ที่ช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายผลผลิตข้าวไปจำนวนมาก ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในการปลูกข้าวนาปี ส่งผลให้ปริมาณข้าวลดลงได้ ในขณะที่ความต้องการสินค้าข้าวจากตลาดต่างประเทศก็ยังคงมีสูง ดังนั้นจึงคาดว่าแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังราคาข้าวจะมีทิศทางเป็นบวก ส่วน มันสำปะหลัง ที่เจอปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดอย่างหนัก ทำให้ผลผลิตหายไปจากระบบไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบกับภาคอาหารเท่านั้นยังส่งผลต่อความต้องการของภาคพลังงานทดแทนด้วย เนื่องจากแผนการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนของรัฐบาลที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พืชพลังงานอย่างมันสำปะหลังมากขึ้น เพราะ ฉะนั้น แนวโน้มราคามันสำปะหลังในปีนี้น่าจะยืนราคาที่มากกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับ ปาล์มน้ำมัน ที่ถึงแม้ช่วง นี้จะมีปริมาณผลผลิตออกมาสู่ตลาดค่อนข้างมาก จึงฉุดราคาให้อยู่ที่ประมาณ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่พ้นช่วงเดือนนี้ไปผลผลิตจะเริ่มลดลง ประกอบกับตามประกาศของ กระทรวงพลังงาน ว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะปรับน้ำมันไบโอดีเซล จาก B2 เป็น B3 จะยิ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันในภาคพลังงานทดแทนมีสูงขึ้น ในขณะที่สต๊อก ปาล์มน้ำมันที่มีอยู่เดิมที่ 1.8 แสนตัน ตอนนี้เหลือเพียง 1.3 แสนตัน ซึ่งสต๊อกสินค้านี้จะถูกดึงไปใช้ทั้งในส่วนของการผลิตเป็นอาหารและพลังงาน จึงเชื่อมั่นว่าราคาปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร เพราะความต้องการใช้สูงปลูกได้ผลผลิตเท่าไรก็ไม่พอจำหน่าย นายอภิชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้า อีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคตสดใส ก็คือ ข้าวโพด เนื่องจากปีนี้ตลาดโลกมีความต้องการข้าวโพดสูง เพราะในต่างประเทศได้นำข้าวโพดไปใช้ในการผลิตเอทานอลมากขึ้น จึงทำให้ราคาข้าวโพดดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองถึงแม้จะผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ แต่สำหรับเรื่องราคานั้นเราใช้ราคาอ้างอิงของตลาดโลก โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ความต้องการใช้ข้าวโพดในการผลิตพลังงานทดแทนสูงขึ้น ก็ตาม จึงส่งผลให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นตามไปด้วย ยางพารา ขณะนี้ก็มีราคาดีอยู่แล้ว เพราะราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ ทั้งนี้ เกิดจากความต้องการของตลาดโลกมีมากขึ้น เพราะภาวะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่ฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อีกทั้งอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในจีนและอินเดียยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคายางพาราในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความร่วมมือของ 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่ร่วมมือกันพัฒนาระบบการผลิตยางพาราและการทำตลาดร่วมกัน ทำให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นตามลำดับ แม้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลายตัวจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพืชพลังงานทดแทน ถือเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี เกษตรกรต้องระมัดระวังในการดูแลรักษาคุณภาพสินค้าให้มาตรฐานคงที่ เนื่องจากการขายคุณภาพจะได้ราคาที่ดีกว่าการเน้นขายปริมาณมาก ๆ แต่สินค้าด้อยคุณภาพ.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์