ประเทศไทย นับว่ามีความพร้อมที่สุดสำหรับการทำเกษตรกรรมทั้งในด้านสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศและภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เพียงแต่วันนี้แหล่งความรู้จากรุ่นปู่ย่าตายายกำลังลบเลือนหายไปเนื่องจากขาดกำลังพลหรือ กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ และการที่ไทยเราจะก้าวขึ้นสู่เส้นทางการเป็นครัวของโลกได้อย่างที่วาดหวังไว้นั้น ในวันนี้ต้องเริ่มปูพรมแหล่งความรู้ทั้งด้านวิทยาการสมัยใหม่และฟื้นภูมิปัญญาพื้นบ้านควบคู่ ลงลึกไปยัง ยุวเกษตรกร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสหกรณ์ รู้จักคิดวางแผนควบคู่กับการทำกิจกรรมด้านเกษตรภายในโรงเรียน ซึ่งนอกจากสร้างพื้นฐานอาชีพเกษตรแล้ว ยังมีผลิตผลที่ได้จากกิจกรรมส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันอีกด้วย เพื่อสนองพระราชดำริ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ฟาร์มแชนแนล (ประเทศไทย) จำกัด จึงจัดโครงการเพื่อเฟ้นหาเด็กไทยหัวใจเกษตร (My Little Farm) ขึ้น
อนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชี บอกว่า การพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งนั้น โรงเรียนนับว่ามีความสำคัญมากนอกจากจะพัฒนาแหล่งผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ ยังเป็นแรงผลักดันให้พ่อแม่ที่อยู่ในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการคิดแยกแยะ เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบเงินออมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเด็กจะเป็นตัวเชื่อมโยงครอบครัว ส่งผลทำให้เกิดกลไก การรวมกลุ่ม กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสหกรณ์ชุมชนที่เข้มแข็ง สำหรับเป้าหมายของโครงการเด็กไทยหัวใจเกษตรนั้น นอกจากฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผน บริหาร จัดการพื้นที่ทำกินให้เหมาะสมในแต่ละฤดูแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนให้เด็กได้เรียนรู้การทำบัญชี ต้นทุน ซึ่งโรงเรียนจะมีบทบาทต่อการสร้างธุรกิจในรูปแบบของสหกรณ์ ที่สามารถวางมาตรฐานต้นทุนการผลิต ผลกำไรได้อย่างแม่นยำ สำหรับโครงการดังกล่าวที่ผ่านมานั้นมีโรงเรียนสมัครเข้ามาทั้งหมด 89 แห่ง และผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 10 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านวังเตย จ.อุทัยธานี โรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี โรงเรียนบุแกรงวิทยาคม จ.สุรินทร์ โรงเรียนบ้านตระกาศขอนแก่น จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนหนองหลวงศึกษา จ.สกลนคร โรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) จ.แพร่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน โรงเรียนวัดสุทธาวาส จ.สุราษฎร์ธานี โรงเรียนทุ่งหว้าวรวิทย์ จ.สตูล และโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้เข้าไปเรียนรู้ร่วมกันในบริเวณพื้นที่ กันตนามูฟวี่ทาวน์ ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ที่ทีมงานได้จัดเตรียมพื้นที่ไว้ ให้เด็ก ๆ ทีมงานละ 1 ไร่ สำหรับลงมือปฏิบัติตามโครงการให้ออกมาเป็นรูปธรรม มีโอกาสคิด คำนวณ วางแผน และบริหารบัญชีต้นทุน ซึ่งก่อนที่จะมีผลผลิตนำออกขายตลาดหลายชนิด ทั้งพืช ผัก ปลา ไก่ ซึ่งยึด หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรผสมผสาน ใน องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางลอง ไปสัมผัสกับความคิดของพวกเขาเหล่านี้ กันดู...
ด.ญ.ศรีไพร วาชยะ จากโรงเรียนบ้านตระกาศขอนแก่น จ.ศรีสะเกษ ที่ได้เสนอโครงการเกษตรอินทรีย์ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโดยหลักก็คือที่โรงเรียนจะนำเศษวัสดุ มูลสัตว์มาใช้ในการปลูกพืช ซึ่งผลผลิตที่ได้จากโครงการจะส่งขายผ่านสหกรณ์ ด.ญ.พัชราภร พึ่งแก้ว จากโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) จ.แพร่ ทำโครงการเกษตรแบบผสมผสาน น้อมนำ เอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ตามแผนที่วางไว้อย่างการนำจักรยานสูบน้ำฉีด แกนกลางพื้นที่จะปลูกผักกินใบ คัน ดินปลูกพืชผักสวนครัวกันแมลงเข้ามารบกวน ซึ่งผลผลิตอย่าง ถั่วงอก ผักบุ้ง ที่มีผลผลิต ออกมาจำหน่ายทุกอาทิตย์ ...ต่อจากนี้ พวกเขาจะเป็นกำลังพลทางการเกษตรที่สืบทอดเจตนารมณ์และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสืบไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์