"ไหมไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวเทศ เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไหมไทยจึงได้รับการพัฒนา จากผืนผ้าที่ใช้ภายในท้องถิ่น กลายเป็นสินค้าที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง แพร่หลาย... กรมหม่อนไหมได้กำหนดภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินงานในปีแรกของการก่อตั้งเป็นหน่วยงานกรม คือ การพัฒนาคุณภาพเส้นไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมให้ได้มาตรฐานระดับสากล โดยดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาไหมไทย รวมถึงพืชเส้นใยอื่น ๆ แบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างบูรณาการ เริ่มตั้งแต่การวิจัยพัฒนาพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหมให้มีผลผลิตสูงโดยใช้ต้นทุนต่ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมที่มีคุณภาพเหมาะสมกับฤดูกาลและความ ต้องการของตลาด ออกแบบลายผ้าไหม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างแบรนด์ไทย วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไหม หรือรังไหม ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร อาทิ ชาใบหม่อนที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไม่ทำให้เส้นเลือดเกาะเป็นก้อน น้ำมัลเบอรี่หรือน้ำลูกหม่อน สบู่จากรังไหมที่มีสารป้องกันยูวี แชมพูสระผมช่วยถนอมและดูแลเส้นผม เป็นต้น โดยกรมจะให้การสนับสนุนงานต่าง ๆ เหล่านี้ โดยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ทั้งในด้านงานวิจัย การผลิต แปรรูปและการตลาดควบคู่กันไป
เมื่อกล่าวถึงไหม สิ่งที่ต้องกล่าวควบคู่กันไปคือ หม่อน ..หม่อนเป็นพืชชนิดหนึ่ง เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน สามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ใบหม่อนเป็นส่วน ที่ใช้เลี้ยงไหม หม่อนเป็นพืชชนิดเดียวที่ตัวไหมกินเป็นอาหาร (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ บอกไว้ว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นได้พัฒนาพันธุ์ที่สามารถใช้ใบหม่อนและก้านอ่อนของหม่อนเป็นอาหารได้ ตลอดจนพันธุ์ไหมที่สามารถกินพืชตระกูลกะหล่ำ กินผลแอป เปิลโดยไม่แสดงอาการเป็นพิษ ตลอดจนปัจจุบันสามารถผลิตอาหารเทียมที่ไม่ใช้ใบหม่อนเป็นส่วนประกอบได้แล้วแต่การเจริญเติบโตและผลผลิตรังไหมก็ไม่สมบูรณ์เท่าเทียมกับการใช้หม่อนเป็นอาหาร เนื่องจากหนอนไหมมีความสามารถในการเปลี่ยนโปรตีนจากใบหม่อนเป็นเส้นใยไหมได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น) ขนาด ความหนาและลักษณะรูปร่างของใบหม่อนจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ ใบหม่อนที่ดีมีคุณภาพจะต้องอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อไหม ทุกวันนี้ คนไทยนำหม่อนมาใช้ประโยชน์มากกว่านำใบไปเป็นอาหารของตัวไหม เช่น นำใบหม่อนมาทำชา (แต่ชาวญี่ปุ่นดื่มน้ำชาจากผงใบหม่อนและรากหม่อนมาเป็นเวลากว่า 60 ปี สืบต่อกันเป็นประเพณีมาช้านาน เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยรักษาสุขภาพ) นำผลมาทำน้ำผลไม้ ทำไวน์ ทำแยม ทำเยลลี่ เวลาที่เขานำผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่าย เขาจะเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า มัลเบอร์รี่(mulberry) บางคนก็จะไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะรู้จักแต่สตรอเบอร์รี่ พึงจดจำไว้ว่า มัลเบอร์รี่มันคือ หม่อน นั่นเอง
ในใบหม่อนมีทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรตไขมัน ความชื้น เส้นใยและเถ้า ในตำราสมุนไพรจีน กล่าวถึงสรรพคุณของหม่อนไว้อย่างมากมาย เช่น ยอดหม่อน นำมาต้มใช้ดื่มและล้างตาเพื่อบำรุงสายตา ใบหม่อน นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระต่าย ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตและลดอัตราการตายของหนูที่มีสาเหตุจากมะเร็งในตับได้ กิ่งหม่อน ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก รักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง กลิ่นฉุนเกิดจากความร้อนภายใน ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี ขจัดความร้อนในปอดและกระเพาะอาหาร ขจัดการหมักหมมในกระเพาะอาหารและเสลดในปอด นอกจากนั้นยังใช้รักษาอาการปวดมือ เท้าเป็นตะคริว เหน็บชา โดยใช้กิ่งหม่อนและโคนต้นหม่อนเก่า ๆ มาตัดเป็นท่อน ผึ่งไว้ให้แห้ง นำมาต้มดื่มก็สามารถขจัดโรคดังกล่าว ได้ ผลหม่อน รักษาโรคไขข้อ บำรุงหัวใจ บำรุงผมให้ดกดำ รากหม่อน สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด วิโรจน์ แก้วเรือง เขียนบทความเรื่อง มีอะไรใหม่ในชาหม่อน ระบุไว้ว่า ในใบหม่อนมีสารเควอซิติน (Quercetin) และ เคมเฟอรอล (Kaempferol) ซึ่งเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยส์ (Flavonoids) ที่มีคุณสมบัติดังนี้ 1. ป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มขึ้น 2. ทำให้กระแสเลือดหมุนเวียนดี และหลอดเลือดแข็งแรง 3. ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ 4. ลดอาการแพ้ต่าง ๆ และยืดอายุเม็ดเลือดขาว 5. สารทั้งสองชนิดนี้ สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้เล็กและไม่เปลี่ยนแปลงสภาพ 6. พืชใช้สารเหล่านี้เพื่อใช้ทนต่อลม ฝน แสงแดด ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่ สามารถสร้างขึ้นเองได้ต้องอาศัยพืช นอกจากนั้นยังพบสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารสำคัญ 2 ชนิด ที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะยังกล่าวถึงประโยชน์ของหม่อนยังไม่หมดแต่ก็คงเห็นคุณค่าของหม่อนขึ้นมาบ้าง...รู้หรือยังว่าทำไมตัวไหมถึงเลือกกินแต่ใบหม่อนเพราะมันมีคุณประโยชน์อย่างนี้นี่เอง.
"เธียรพัฒน์"
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์