เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งแก้ปัญหาหน้าดินเสื่อม หน่วยงานต่างร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเอกชนอีกหลายรายได้หันเหทิศทางการค้าโดยมุ่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์แล้วขายผ่าน ทาง "สหกรณ์การเกษตร"... ที่ผ่านมาวิถีการทำเกษตรในบ้านเรานิยมใช้ "ปุ๋ยเคมี" ปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มผลผลิต พอนานวัน นอกจากเกษตรกรต้องใช้จำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ยังทำให้ หน้าดินแข็งเสื่อมสภาพ เพื่อลดต้นทุน รวมทั้งแก้ปัญหาหน้าดินเสื่อม หน่วยงานต่างร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเอกชนอีกหลายรายได้หันเหทิศทางการค้าโดยมุ่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์แล้วขายผ่านทาง "สหกรณ์การเกษตร" แต่เมื่อ "กรมส่งเสริมสหกรณ์" ที่นำโดย นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมฯพร้อมคณะ ออกสุ่มตรวจคุณภาพทั้ง 76 จังหวัด กลับพบว่าปุ๋ยอินทรีย์-เคมีที่วางจำหน่ายมีเพียงจำนวนน้อยนิดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน นายฉกรรจ์ บอกให้ฟังว่า...เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวตามแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ที่เห็นชอบในแผน ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมด้วยกรมวิชาการเกษตร ได้จัด "โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ในสถาบันเกษตรกร" ขึ้น โดยทั่วประเทศมีสหกรณ์ เข้าร่วมโครงการ 240 แห่ง หลัง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สุ่ม เก็บตัวอย่างปุ๋ยที่วางจำหน่ายสหกรณ์ดังกล่าว หลังส่งไปที่บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯวิเคราะห์ ตรวจสอบฯ พบว่า สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ 164 แห่ง จำหน่ายปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจากจำนวน 555 ตัวอย่าง พบว่าปุ๋ยเคมี 462 ตัวอย่าง ได้มาตรฐาน 199 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43 ไม่ได้มาตรฐาน 263 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57 และจำนวนตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์ 93 ตัวอย่าง ได้มาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8 ไม่ได้มาตรฐาน 86 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 92 เท่านั้น
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้แนะนำให้สหกรณ์ คืนปุ๋ยให้กับผู้ค้า แล้วชี้แจงมาตรการต่างๆในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พิษณุโลก นครราชสีมาและแพร่ ว่า หากสหกรณ์ใดจะรับปุ๋ยจากเอกชนมาขาย ใน การรับสินค้าทุกลอตต้องมีหนังสือรับรองจากห้องปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด
...พร้อมทั้งเรียกผู้ประกอบการร่วมตกลงทำความเข้าใจร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า การขึ้นทะเบียนปุ๋ยเฉพาะลอตนั้นๆ หากบริษัทที่จำหน่ายปุ๋ยให้สหกรณ์มีข้อสงสัยสามารถส่งตัวอย่างตรวจได้ทั้ง 3 แห่ง โดยบริษัทเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย การที่กรมวิเคราะห์ค่าบางตัว เพราะต้องการดูมาตรฐานปุ๋ยไม่ได้ดูเรื่องปุ๋ยปลอมหรือไม่ วิธี การสุ่มตัวอย่างต้องกลับไปหารือกับกรมวิชาการเกษตร ว่าทำอย่างไรให้เป็นสากลและสามารถตรวจสอบได้
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อผลการวิเคราะห์ปุ๋ยออกมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะแจ้งไปยังสหกรณ์ทั้งที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน ว่าสูตรใดเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความสบายใจทุกฝ่าย และวิธีการมาตรฐานการสุ่มต้องถูกหลักการรวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ หากการเก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพรอบ 2 พบว่ายังมีปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐานและเป็นของบริษัทเดิม จะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทผู้ขายปุ๋ยทันที ส่วนที่เป็นของรายใหม่จะแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการทราบ แล้วเปิดโอกาสให้ปรับปรุงจึงตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง นอกจากนี้ถ้าตรวจพบว่าสหกรณ์ฯใดยังซื้อปุ๋ยไม่ได้มาตรฐานจากบริษัทเดิม ถือว่าส่อเจตนาทุจริตนอกจากเป็นการสร้างความเสียหายให้กับสมาชิกยังส่งผลต่อประเทศชาติ กรมจะดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา 21 ภายใต้ พ.ร.บ.สหกรณ์ทันที จากตัวเลขดังกล่าวหากผู้ผลิตรายใดยังไม่ปรับเปลี่ยนให้คุณภาพได้มาตรฐานผ่านเกณฑ์ที่วางไว้ คาดว่าในเร็ววันปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศคงกลับมาผงาดในวงการเกษตรบ้านเราได้อีกครั้ง
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
ในวันนี้หากผู้ประกอบการยังไม่เร่งปรับปรุงมาตรฐาน ไม่เพียงแค่เสียความเชื่อมั่นจากเกษตรกรบ้านเรา แต่แนวโน้มประเทศไทยอาจเสียเงินสั่งนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศอีกครั้งที่แต่ละปี มูลค่ามหาศาล.
เพ็ญพิชญา เตียว
ที่มา : ข่าวไทยรัฐ ออนไลน์