ประเทศไทยเป็นประเทศที่เติบโตมากับอาชีพด้านการเกษตร แต่เกษตรกรส่วนใหญ่กลับต้องประสบกับความยากจน หลายรายชีวิตวนเวียนอยู่กับอาชีพรับจ้างทำนา ทำไร่ รายได้ที่ได้รับเพียงพอแค่ประทังชีวิตเท่านั้น อย่าง สมพงษ์ เอี่ยมเมือง เล่าให้ฟังว่า เป็นเพราะว่าเรียนจบแค่ประถม 4 ไม่รู้ว่าจะทำอาชีพอะไร ได้แต่รับจ้างตัดอ้อยบ้าง ทำนาบ้าง ทำแค่พออยู่ได้ไปวัน ๆ เพราะมีรายได้แค่วันละ 70-80 บาท ที่สำคัญชีวิตต้องร่อนเร่ไปเรื่อยแล้วแต่ว่าใครจะจ้างให้ไปทำ ไม่เคยได้อยู่บ้านกับพ่อแม่ สมพงษ์ เอี่ยมเมือง วัย 50 ปี เจ้าของสมพงษ์ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 1 หมู่ 6 ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณ บุรี บอกว่า แต่ก่อนชีวิตต้องประสบกับความจน จนเข็ด...มองไม่เห็นหนทางว่าจะหลุดพ้นความจนได้อย่างไร กระทั่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย (Contract Farming-คอนแทรคฟาร์มมิ่ง) ฟาร์มสุกรพันธุ์กับบริษัทที่เข้ามาส่งเสริม ซึ่งเป็นอาชีพที่พลิกชีวิตเธอแบบหน้ามือเป็นหลังมือในวันนี้ เมื่อได้ตัดสินใจแล้ว จึงกู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตกว่า 5 แสนบาทเพื่อลงทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์จำนวน 120 ตัว โดยรูปแบบโรงเรือนขณะนั้นยังคงเป็นแบบเปิดโล่ง ต่อมาทางบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจึงส่งเสริมให้ปรับปรุงโรงเรือนเป็นระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือ Evap (Evaporative Cooling System) ซึ่งทำให้เธอเห็นความแตกต่างของผลผลิตได้อย่างชัดเจน เพราะการเลี้ยงในระบบปิดนี้สามารถปรับอากาศให้เหมาะสมกับความต้องการของแม่สุกรได้เป็นอย่างดี เมื่อแม่สุกรอยู่สบายจึงกินอาหารได้ดี ไม่เครียด มีสุขภาพแข็งแรง การให้ผลผลิตจึงดีตามไปด้วย ส่งผลให้เธอสามารถคืนเงินกู้ทั้งหมดได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี เมื่อเห็นว่าอาชีพนี้ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน จึงได้กู้เงินเพิ่มอีก 4 แสนบาท เพื่อขยายการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นแม่พันธุ์รวม 220 ตัวในปัจจุบันสร้างรายได้เฉลี่ยเกือบ 1 แสนบาทต่อเดือน ตอนแรกที่เริ่มเลี้ยงหมูกับโครงการฯ เรา 3 คนพี่น้องทำอะไรไม่เป็นเลย ก็ได้สัตวบาลของบริษัทเป็นคนแนะนำ ตั้งแต่การสร้างโรงเรือน วิธีการเลี้ยงหมู การป้องกันโรค เรียกว่าเขาเป็นที่ปรึกษาในทุก ๆ เรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องตลาดซึ่งทำให้เราไม่ต้องหนักใจว่าจะเอาลูกหมูที่ผลิตได้ไปขายให้ใคร หรือจะขายได้ราคาถูกหรือแพงเท่าไหร่ เพราะบริษัทจะรับซื้อลูกหมูที่ได้มาตรฐานทั้งหมดไปส่งต่อให้เกษตรกรหมูขุนเลี้ยงต่อไป เรียกว่าหมดกังวลเรื่องตลาดได้เลย ส่วนเรื่องการผลิตก็จะมีพนักงานโทรฯ มาถามคอยติดตามในทุก ๆ เย็นเพื่อสอบถามว่าเลี้ยงหมูได้มาตรฐานหรือไม่ มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะทำให้เราตื่นตัวและป้องกันปัญหาได้ทันท่วงที เนื่องจากเมื่อเห็นความผิดปกติ อะไรก็จะสามารถแก้ไขได้ทันทีก่อนที่จะเกิดปัญหา ส่วนเคล็ดลับในการทำอาชีพนี้ก็ไม่มีอะไรมาก ขอเพียงสนใจ ตั้งใจ คอยดูแลหมูของเราด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด เพราะหมูท้องก็เหมือนคนท้องที่ต้องใส่ใจ ดูแลเป็นพิเศษ ส่วนลูกหมูก็เหมือนเด็กที่ต้องประคบประหงมให้โตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ถ้าทำได้อย่างนี้ ผลผลิตที่มีคุณภาพก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำได้อย่างแน่นอน สมพงษ์ เล่า ด้วยความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพของสมพงษ์ ที่พยายามพัฒนาการผลิตของตนเองอย่างต่อเนื่อง และผลิตสุกรตามหลักวิชาการที่บริษัทมอบให้ จึงได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน กระทั่งปัจจุบันสมพงษ์ฟาร์มกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ นับเป็นเกษตรกรอีกรายที่ค้นหาวิถีการประกอบอาชีพได้ถูกโฉลกกับตนเองจนประสบความสำเร็จ เพราะเธอเพียงแต่รู้จักคิด รู้จักลอง รู้จักเรียนรู้ และที่สำคัญเมื่อตัดสินใจแล้วก็ลงมือทำอย่างจริงจัง.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์