นายปรีชา สมบูรณ์ ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้พยายามพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยการทำการรับรองฟาร์มมาตรฐานและการใช้ระบบคอมพาร์ตเมนต์ในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งวิธีการทั้งสองถือเป็นการเพิ่มมาตรฐานการจัดการอุตสาหกรรมสัตว์ปีกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการดำเนินการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกได้อย่างเข้มงวด อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อป้องกันความเสี่ยงการนำเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเข้าไปแพร่ระบาดภายในฟาร์มที่ได้การรับรองและอยู่ในคอมพาร์ตเมนต์ได้อีกด้วย ซึ่งมาตรการและเทคนิคทางวิชาการต่าง ๆ ที่กรมปศุสัตว์นำมาใช้ช่วยให้ประเทศคู่ค้าไทย เช่น ญี่ปุ่นหรือประเทศในยุโรปเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าสัตว์ปีกของไทยมากขึ้น อีกทั้งยังอาจเปิดตลาดใหม่กับประเทศรัสเซีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้ด้วย
ทางด้าน นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้รับรองฟาร์มมาตรฐานไก่เนื้อไปแล้ว 7,441 ฟาร์ม มีกำลังการผลิต 213.82 ล้านตัวต่อรุ่นการผลิต และรับรองฟาร์มที่สามารถรักษาสถานภาพปลอดโรคไข้หวัดนกมากกว่า 12 เดือนไปแล้ว 272 ฟาร์มจาก 44 คอมพาร์ตเมนต์ กำลังการผลิต 73.35 ล้านตัวต่อรุ่นการผลิต อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ยังคงสุ่มตัวอย่างสัตว์ปีกจากทั่วประเทศเพื่อส่งตรวจหาโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง นอกจากภายในฟาร์มมาตรฐานและในระบบคอมพาร์ตเมนต์ที่มีการเฝ้าระวังเชื้ออย่างสม่ำเสมอแล้ว กรมปศุสัตว์ยังได้ทำการเฝ้าระวังเชิงรุกด้านอาการทางคลินิกของสัตว์ปีกทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง และได้มีการสุ่มตัวอย่างอุจจาระสัตว์ปีกที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก เช่น ไก่พื้นเมือง เป็ดไล่ทุ่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ถึงปัจจุบัน ได้ตรวจสอบตัวอย่างสัตว์ปีกไปแล้วจำนวน 26,000 ตัว ตรวจไม่พบโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์