นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่จะตกในปี 2553 นี้ว่าจะมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และน้อยกว่า ปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีในรอบ 30 ปี รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญก็ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งจะมีผลทำให้ฝนตกไม่มาก น้ำในเขื่อนต่าง ๆ จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ และอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตรในฤดูแล้ง นอกจากนี้เขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมากและหลายเขื่อนยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเลย แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนมากว่าครึ่งเดือนแล้วก็ตาม เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนนางรอง เขื่อนสิรินธร เขื่อน วชิราลงกรณ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนประแสร์ เป็นต้น โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้เหลือรวมกันเพียง 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 6 ของปริมาณความจุเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปีนี้ กรมชลประทานได้สั่งการให้สำนัก ชลประทานที่ 3, 4, 11, และ 12 ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไปศึกษาวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างละเอียด โดยรายงานให้กรมชลประทานรับทราบภายในเดือนพฤษภาคม 2553 นี้ ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ที่ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำ สถานการณ์น้ำในฤดูฝนปี 2553 หากไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่ดี รอบคอบแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะมากกว่าปี 2537 เนื่องจากเศรษฐกิจได้เติบโตขึ้น ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้น และที่สำคัญภาคการเกษตรมีการขยายตัวอย่างกว้างขวางอีกด้วย อธิบดีกรมชลประทานกล่าว สำหรับแนวทางในการบริหารจัด การน้ำหากเกิดวิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำนั้น กรมชลประทานจะให้ความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก หากมีปริมาณน้ำเหลือก็จะจัดสรรเพื่อรักษาระบบนิเวศ หลังจากนั้นถึงจะพิจารณาจัดสรรเพื่อการเกษตร และกิจกรรมด้านอื่น ๆ ตามลำดับ นอกจากนี้กรมชลประทานจะรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้คุณค่าของน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์