ผลการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่ใส่ใจบำรุงรักษา พัฒนาและฟื้นฟูเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศเกิดปัญหาดินเสื่อมโทรมและขาดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินด้วย การเร่งพัฒนาทรัพยากรที่ดินโดยการอนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ทางกรมพัฒนาที่ดินได้มีแผนเร่งอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่การเกษตรโดยเน้นดึงชุมชน ท้องถิ่นและเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของดินให้คงอยู่ พร้อมเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งปี 2552 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ในพื้นที่ที่มีปัญหารวมกว่า 947,500 ไร่ และก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลบ.ม. จำนวน 20,447 บ่อ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20,000 บ่อ นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังได้รับ งบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม 66.4 ล้านบาท ในยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะเร่งด่วน ภายใต้แผนงานฟื้นฟูและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ โดยได้ดำเนินการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลบ.ม. เพิ่มอีก 4,520 บ่อ ในพื้นที่ 39 จังหวัด การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เป้าหมาย 232 แห่ง พร้อมปรับปรุงพื้นที่และจัดทำระบบส่งน้ำไร่นา เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรและมีน้ำใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพดินในพื้นที่ที่มีปัญหาทางกายภาพ โดยส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงพื้นที่ดินเปรี้ยวภาคกลาง พื้นที่ดินกรด พื้นที่ดินเปรี้ยวดินเค็มภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 127,401 ไร่ อย่างไรก็ตาม ปี 2553 นี้จะเร่งพัฒนา ขยายผลโครงการแหล่งน้ำในไร่นอกเขตชลประทาน ด้วยการขุดสระน้ำขนาด 1,260 ลบ.ม. ในไร่นา งบประมาณบ่อละ 18,700 บาท โดยภาค รัฐจะสนับสนุนงบประมาณ 16,200 บาทต่อบ่อ และให้เกษตรกรร่วมสมทบทุนค่าขุดสระน้ำ 2,500 บาทต่อบ่อ เป้าหมาย 18,235 บ่อทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงปลา ซึ่งเป็นช่องทาง ที่จะช่วยให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า จะเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ดอน-ที่ลุ่ม เป้าหมาย 813,750 ไร่ รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจเพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็ม พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยว 38,550 ไร่ ปรับปรุงพื้นที่ดินกรด 42,500 ไร่ และเร่งแก้ปัญหาดินเค็ม 45,750 ไร่ เป้าหมายรวม 126,800 ไร่ทั่วประเทศ ส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ นิคมการเกษตร นำร่อง 7 ได้แก่ นิคมการเกษตรข้าว จ.ฉะเชิงเทรา นิคมการเกษตรข้าว จ.สุพรรณบุรี นิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด นิคมการเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.ตาก นิคมการเกษตรมันสำปะหลัง จ.จันทบุรี นิคมการเกษตรข้าว จ.นครศรีธรรม ราช และนิคมการเกษตรปาล์มน้ำมัน จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ เป้าหมายรวมไม่น้อยกว่า 107,350 ไร่ การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำภายใต้การมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชนและท้องถิ่น เป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงการพัฒนาทรัพยากรที่ดินมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และรักษาความชุ่มชื้นในดินในพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และเลี้ยงปลา ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์