ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 5 หน่วยงาน ได้จัดการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อค้นหาตัวอย่างของภาคประชาชน เอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่สามารถน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติจนสำเร็จสามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น ได้เปิดเผยใน โอกาสร่วมประชุมพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะเลิศระดับประเทศในการประกวดผลงาน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 2 เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระ ราชทานพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับคนไทยมาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งก็ครบ 11 ปีแล้ว และเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว สหประชาชาติภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้ศึกษาถึงแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้ศึกษาถึงชุมชน รวมทั้งองค์กรในประเทศไทย และได้สรุปเป็นเอกสารภาษาอังกฤษเผยแพร่ไปยัง 166 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในข้อสังเกตจากรายงานที่เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พูดไว้ 6 ประการด้วยกันคือ
ประการที่ 1 มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ การขจัดความยากจนได้ ประการที่ 2 เป็นพื้นฐานของการสร้างพลังอำนาจของชุมชน และการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็ง ประการที่ 3 ช่วยยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเอกชน ธุรกิจเอกชน ทำให้พื้นฐานองค์กรมีความมั่นคงขึ้น และนี่คือเหตุผลที่ทำให้โครงการพัฒนาแห่ง สหประชาชาติ (UNDP) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ว่า ประเทศอื่นจะนำไปใช้น่าจะเป็นประโยชน์กับบริษัทเอกชน ในการทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจในระยะยาว ท่ามกลางบริบทของการแข่งขันทางธุรกิจ ประการที่ 4 เป็นพื้นฐานขององค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์ของรัฐหรือเอกชน ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการปรับปรุงมาตรฐานของหลักธรรมาภิบาลเข้าไปใช้ ประการที่ 5 โดยหลักการและพื้นฐาน รัฐบาลสามารถนำ ไปเป็นนโยบายสาธารณะได้ และสามารถปรับนโยบายสาธารณะให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลกได้ และสุดท้าย ประการที่ 6 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้ตั้งข้อศึกษาไว้ก็คือ ในการปลูกฝังจิตสำนึกพอเพียง จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมและความคิดของคน เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาคน องคมนตรียังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะน่าจะได้ศึกษาถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่า หลักมียังไง แนวคิดในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติ ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกำหนดไว้ 4 ด้านด้วยกัน คือด้านวัตถุหรือเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวัฒนธรรม ดังนั้น ในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จะสามารถสร้างความเข้มแข็งทั้ง 4 ด้านได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ในระดับรากหญ้า ระดับขององค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรของรัฐ ไปจนถึงระดับประเทศต่อไป
มีอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ได้กับทุกองค์การ ดังเมื่อหลายปีก่อนที่กรมการศาสนา ได้สอบถามไปยังหน่วยงานซึ่งดูแลศาสนาหลัก 5 ศาสนาในประเทศไทย ทุกศาสนาตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตรงกับหลักศาสนาของทั้ง 5 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ซึ่งสามารถยกอ้างในคัมภีร์ได้เลย เพราะฉะนั้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นไปตามคำสอนของศาสดาทั้ง 5 ศาสนา ซึ่งเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ถ้าปฏิบัติเช่นนี้ได้จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าว องคมนตรี ยังได้กล่าวเสริมด้วยว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาผลการตัดสินการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนี้ได้คัดเลือกผู้ชนะการประกวดทั้ง 10 ประเภทได้แล้ว และต่อไปจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้สาธารณชนได้รับทราบและนำผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมดไปต่อยอดและขยายผลการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ชัดเจนและแพร่หลาย ตนในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการประกวดฯ และคณะกรรมการการประกวดประเภทต่าง ๆ ได้ร่วมเสนอแนะข้อคิดเห็น สิ่งที่ควรปรับปรุงหรือสิ่งที่ควรเพิ่มเติม สำหรับการประกวดในครั้งต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้จะต้องมีการประชุมหารือในเรื่องต่าง ๆ อีกครั้ง สำหรับผู้ที่ชนะเลิศการประกวดระดับประเทศทั้ง 10 ประเภท จะได้รับถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทละ 1 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศ จะได้รับถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทละ 4 รางวัล และรางวัลชมเชย จะได้รับโล่เกียรติยศของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กปร. สำหรับผลงานที่ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์ตัวชี้วัด จะได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงาน กปร. โดยทุกผลงานในการประกวดครั้งนี้จะเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ และทางเว็บไซต์สำนักงาน กปร. www.rdpb.go.th เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชนต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์