เพรียงทรายเป็นสัตว์ทะเลในกลุ่มแอนเนลิดที่อาศัยอยู่ตามหาดทรายบริเวณแนวน้ำขึ้นน้ำลง กินซากพืชและซากสัตว์เป็นอาหาร เป็นอาหารที่สำคัญของแม่พันธุ์กุ้งทะเล เนื่องจากเนื้อของเพรียงทรายมีโปรตีนสูงและไขมันที่จำเป็นต่อการพัฒนารังไข่ของกุ้งทะเล ปัจจุบันความต้องการเพรียงทรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากถูกนำมาใช้เลี้ยงกุ้งทะเล ทำให้เกิดการจับเพรียงทรายจากธรรมชาติมาป้อนโรงเพาะพันธุ์กุ้งทะเลมากขึ้น จนทำให้ประชากรเพรียงทรายในธรรมชาติ ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเพรียงทรายที่จับมาจากธรรมชาติมีข้อเสียในการนำมาใช้เป็นอาหาร ของแม่พันธุ์กุ้งทะเล เพราะอาจนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบาดในกุ้งทะเล หรือนำแบคทีเรียและพยาธิมาสู่แม่พันธุ์กุ้งทะเลได้
กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต ได้นำเพรียงทรายที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมาเพาะขยายพันธุ์ เพื่อให้บริการเกษตรกรที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลและผู้ที่นิยมเกมตกปลาใช้เป็นเหยื่อในการตกปลา พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงให้เกษตรกรที่สนใจอีกด้วย เพรียงทรายเป็นหนอนปล้องที่มีลำตัวเรียวยาวค่อนข้างแบนแบ่งออกเป็นปล้องจำนวนมาก ด้านหน้ามีลักษณะคล้ายหัวโดยมีปากและเขี้ยว 1 คู่ มีตุ่มสั้น ๆ ทำหน้าที่รับความรู้สึก มีอวัยวะรับสัมผัสคล้ายหนวด 1 คู่ และมีตา 2 คู่ สำหรับปรับแสง ลำตัวมีลักษณะเป็นปล้องขนาดเท่า ๆ กัน โดยด้านข้างของแต่ละปล้องจะมีส่วนที่ยื่นเป็นแผ่นทำหน้าที่คล้ายขาช่วยในการเคลื่อนที่และว่ายน้ำ เพรียงทรายมักอาศัยอยู่ใต้พื้นทรายบริเวณชายหาดน้ำปริ่ม ๆ หรือน้ำครึ่งหาดและแพร่กระจายอยู่ทั่วทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้ประกอบการโรงเพาะฟักกุ้งทะเลในประเทศไทยแล้วว่า เพรียงทราย ที่พบอาศัย อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับของพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล จากการศึกษาคุณค่าทางโภชนา การของเพรียงทราย ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติพบว่า มีโปรตีน 52.83% ไขมัน 17.39% และให้พลังงาน 382.41 กิโลแคล ลอรี ต่อน้ำหนักเปียก 100 กรัม และสามารถที่จะใช้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนและไขมันสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตลูกกุ้งทั้งการใช้เป็นอาหารสดโดยตรงและเป็นส่วนผสมของอาหารสำเร็จรูป นอกเหนือจากนั้นยังพบด้วยว่าในน้ำเลือดของเพรียงทรายยังมีคุณสมบัติที่เป็นสารยับยั้งจุลินทรีย์ อีกด้วย การเพาะเลี้ยงเพรียงทรายสามารถทำได้ โดยนำเพรียงทรายจากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์โดยเลี้ยงในบ่อคอนกรีตกลมขนาด 2 ตารางเมตรที่ระดับความหนาแน่น 3,000-4,000 ตัว/ตารางเมตร ให้อาหารสำเร็จรูปของลูกกุ้งกุลาดำวันละ 2 มื้อ เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ขุนประมาณ 1-2 เดือน จะได้พ่อแม่พันธุ์เพรียงทรายที่มีความสมบูรณ์เพศและพร้อมผสมพันธุ์ แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์จะให้ไข่จำนวน 50,000-70,000 ฟอง ไข่ที่ได้รับการผสมนำไปฟักในถังฟักเป็นเวลา 3 วันก็จะได้ตัวอ่อนเพื่อนำลงบ่ออนุบาลต่อไป ทั้งนี้ การผลิตเพรียงทรายจะใช้ประมาณ 4 เดือน/ รุ่น ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของเพรียงที่ทำการเลี้ยง
ในการเตรียมความพร้อมก่อนการเพาะเพรียงทราย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งมาก่อน สามารถนำบ่อปูนเก่าที่ ไม่ใช้ประโยชน์นำกลับมาใช้ได้ แต่ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อน หรือหากไม่มีบ่อปูนก็สามารถใช้วัสดุอื่นทดแทนได้เช่น ทั้งกระบะ ตะกร้า โดยใช้อวนมุ้งสีฟ้าปูรองพื้น และนำทรายน้ำจืดมาเป็นวัสดุ ในการเลี้ยง โดยใส่ทรายสูงประมาณ 20 เซนติเมตร สิ่งที่จะต้องดูแลเป็นการพิเศษ คือเรื่องการให้อาหาร หากพื้นทรายขรุขระมีความเรียบไม่เสมอกัน เพรียงจะกินอาหารไม่สม่ำเสมอ การให้อาหารไม่ควรให้มากเกินไป เพราะถ้าอาหารเหลือจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อต่าง ๆ น้ำที่ใช้ควรมีการฆ่าเชื้อก่อน และเปลี่ยนถ่ายน้ำก่อนให้อาหารทุกครั้ง
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของกรมประมงในการศึกษาวิจัยที่สามารถนำมาต่อ ยอดเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และขยายผลสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ของวงการธุรกิจสัตว์น้ำไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับผู้ที่สนใจการเพาะเลี้ยงเพรียงทรายสามารถสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ คุณนันทวัน ศานติสาธิตกุล นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต โทร. 0-7621-9330 ในวันเวลาราชการ.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์