แปรรูปเป็นเอทานอลสู่พลังงานทดแทน
จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลัง และอ้อยป้อนโรงงานเป็นอันดับ 3 และ 4 ของภาคอีสาน ในปีการเพาะปลูก 2551/2552 มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 352,192 ไร่ ผลผลิต 1,129,652 ตัน เฉลี่ย 3.208 ตันต่อไร่ และพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน 376,900 ไร่ ผลผลิต 3,413,196 ตัน เฉลี่ย 9.278 ตันต่อไร่ ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยที่ได้ยังอยู่เกณฑ์ต่ำไม่เต็มศักยภาพของพื้นที่ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จังหวัดจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชพลังงานทดแทน ปี 2553 โดยให้บูรณาการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยการดำเนินกิจกรรมตามโครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากยุทธศาสตร์ของจังหวัด จำนวน 15 ล้านบาท โดยเน้นการผลิตทางการเกษตรและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เน้นให้เป็นฐานการผลิตพืชอาหาร และพืชพลังงานทดแทนของประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอสำหรับการผลิตเอทานอล ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพิงน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวจะมีระยะดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2552-2554 สำหรับปี 2552 ได้ดำเนินการผลิตมันสำปะหลัง พื้นที่ 1,300 ไร่ และผลิตอ้อยโรงงานพื้นที่ 350 ไร่ ในปี 2553 จังหวัดมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตมันสำปะหลังในเขตพื้นที่ อ.เมือง เกษตรกร 1,000 ราย พื้นที่ 1,000 ไร่ เขตพื้นที่ขยายผลอีก 13 อำเภอ มี อำเภอสหัสขันธ์ ดอนจาน สมเด็จ นามน ห้วยผึ้ง กุฉินารายณ์นาคู ท่าคันโท ห้วยเม็ก หนองกุงศรี ยางตลาด คำม่วง และอำเภอสามชัย รวมเกษตรกร 1,000 ราย และกิจกรรมการผลิตอ้อยโรงงานมีพื้นที่เน้นหนัก 200 ราย พื้นที่ 1,000 ไร่ พร้อมขยายผลในพื้นที่ 13 อำเภอ เช่นเดียวกับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เกษตรกร 325 ราย พื้นที่ 650 ไร่ นายสุวิทย์ สุบงกฎ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2553 ได้เริ่มจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง และอ้อยโรงงานให้ได้ไม่น้อยกว่า 10 ตันต่อไร่ และเพิ่มผลผลิตอ้อย โรงงานให้ได้ไม่น้อยกว่า 13 ตันต่อไร่ มีกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังที่จะเกิดขึ้น 80 กลุ่ม และกลุ่มผู้ปลูกอ้อยโรงงาน จำนวน 21 กลุ่ม ทางด้าน นายสมบูรณ์ วุฒิพงศ์ประเสริฐ เกษตร จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมตามโครงการของปี 2553 มีดังนี้ 1. จัดให้มีการประชุมชี้แจงเกษตรกรและนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร รวม 170 คน จำนวน 2 ครั้ง 2. จัดถ่ายทอดเทคโนโลยีตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เพื่อฝึกปฏิบัติเกษตรกร จำนวน 2,525 ราย ในหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบลเป็นเจ้าภาพ การผลิตปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ สำนักงานพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าภาพ การนำผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดรับผิดชอบและกิจกรรมการจัดทำบัญชีฟาร์ม สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นเจ้าภาพ เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ในการจัดโครงการตามยุทธศาสตร์จังหวัดในปี 2553 นี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะ ได้รับ 1. เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังไม่น้อยกว่า 10 ตันต่อไร่ อ้อยโรงงานไม่น้อยกว่า 13 ตันต่อไร่ 2. จังหวัดกาฬสินธุ์ จะมีจุดสาธิตหรือแหล่งเรียนรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง จำนวน 1,000 แปลง และอ้อยโรงงาน 200 แปลง พร้อมที่จะขยายผลไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 1,000 ราย เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จำนวน 325 ราย และเป็นการเพิ่มผลผลิตเพื่อป้อนโรงงานมันสำปะหลัง โรงงานอ้อย นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำหน่ายทั้งใน และต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นโครงการเน้นนำผลผลิตไปผลิตเป็นเอทานอล เพื่อใช้แทนน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพิงน้ำมันปิโตรเลียมที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ โครงการผลิตเอทานอล รัฐบาลได้สนับสนุนเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพ และเพื่อเสริมความมั่นคงของพลังงานในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนอีกด้วย.
โอภาส มั่นคง
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์