นานมาแล้วที่เกษตรกรในภาคเหนือ ประสบกับปัญหาในเรื่องข้อจำกัดในเรื่องของอายุการเก็บรักษาของผลผลิตที่ผลิตได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่เกิดขึ้น เพราะเกษตรกร เหล่านั้นไม่มีอำนาจที่จะต่อรองกับพ่อค้า คนกลางและจำเป็นต้องขายผลผลิตในราคา ที่ถูก ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิต เช่น ค่า ปุ๋ยและสารเคมีต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้นทุกปี ก่อเกิดภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นทำให้ในแต่ ละปีมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกที่จะเดินทางเข้าไปเป็นแรงงานภาคอุตสาห กรรมในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นายช่วย โกดถา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ผ่านมาบ้านงิ้วประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานหนุ่มสาวเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในปี 2544-2545ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดตกต่ำ อีกทั้งข้าวโพดซึ่งเป็นพืชหลักในพื้นที่ก็ไม่ให้ผลผลิต ต้นข้าวโพดแคระแกร็น ทำให้คนหนุ่มสาวในพื้นที่เข้าไปทำงานในเมืองเป็นจำนวนมาก ส่วนแรงงานที่เหลือก็ได้แต่ทำการเพาะปลูกต่อไปอย่างไม่รู้อนาคต จนกระทั่งทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มาจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อปี 2546 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขยายพื้นที่ปลูกยางแหล่งใหม่ ในเขตภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม หลังจากงานสัมมนาดังกล่าวแม้ว่าจะไม่มั่นใจนัก แต่เมื่อเห็นว่าสวนยางพาราเขต อ.เชียงคำ ที่เกษตรกรนำไปปลูกเองในปี 2538 สามารถเปิดกรีดได้ ผู้ใหญ่และเกษตรกรหมู่ 6 จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการยางล้านไร่คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งหมด 20,000 ไร่ โดยในส่วนของผู้ใหญ่ได้รับกล้ายางจากโครงการฯ จำนวน 1,200 ต้น โดยนำไปปลูกเมื่อปี 2547 พบว่าในวันนี้ต้นยางมีการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ และไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง จึงได้ลงทุนขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มอีก 15 ไร่ นอกจากโครงการยางล้านไร่จะทำให้เกษตรกรบ้านงิ้วมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมของหมู่บ้านดีขึ้น ร่มรื่นและฝนตกตามฤดูกาล รวมทั้งผืนดินมีความชุ่มชื้นมากขึ้นไม่แตกระแหง ทำให้ปลูกข้าวไร่พลอยได้ผลผลิตมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งที่ก่อนจะมีโครงการยางล้านไร่นั้น ผืนดินส่วนใหญ่ของบ้านงิ้วเริ่มกลายเป็นเขาหัวโล้น เพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผลผลิตแล้ว เนื่องจากสภาพดินที่เสื่อมโทรมขั้นรุนแรง
ด้านนายสมบูรณ์ มุงเมือง ซึ่งเป็นลูกบ้านที่เข้าร่วมโครงการยางล้านไร่เมื่อปี 2547 กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่ดินที่ใช้ปลูกยางทั้ง 10 ไร่ถูกปล่อยร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีปัญหาดินเสื่อมโทรมอย่างหนักจากการปลูกข้าวโพดอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ดังนั้นเมื่อทราบว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการปลูกยางในภาคเหนือจึงสนใจเข้าร่วมโครงการ เพราะคิดว่าน่าจะดีกว่าปล่อยไว้โดยเปล่าประโยชน์ ตอนแรกคิดแค่ว่า เอาต้นยางมาปลูกน่าจะดีกว่าปล่อยที่ดินไว้เปล่า ๆเพราะถ้าต้นยางไม่ให้น้ำยางก็น่าจะยังขายเป็นไม้ได้ แต่หลังจากที่ได้เห็นว่าต้นยางที่ได้รับมีการเติบโตดีมาก ต้นโตสม่ำเสมออีกทั้งเจ้าหน้าที่ของ สกย. และพนักงานของซีพียังมีการติดตามผลเข้ามาให้คำแนะนำการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดอบรมเรื่องความรู้เรื่องวิธีกรีดยางที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรในพื้นที่ด้วย โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาผมสามารถเปิดกรีดต้นยางไปแล้วกว่า 400 ต้น มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ญาติพี่น้อง และเพื่อน ๆ ที่เคยไปทำงานในเมืองเริ่มกลับมาอยู่บ้านมากขึ้น เพราะอีกไม่ถึง 2 ปี สวนยางกว่า 20,000 ไร่ในพื้นที่จะพร้อมเปิดกรีดให้น้ำยางได้ แล้ว และเนื่องจาก จ.เชียงรายอยู่ใกล้กับประเทศจีน อีกทั้งทราบว่ารัฐบาลมีโครงการที่จะทำถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนอยู่แล้ว จึงอยากขอให้รัฐบาลสนับสนุนภาคเอกชนมาลงทุนเรื่องโรงงานแปรรูปผลิต ภัณฑ์ยางในพื้นที่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางให้มีความหลากหลายมากขึ้น คาดว่าจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกน้ำยางและผลิตภัณฑ์ยางไปจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์