บุก...พืชสมุนไพร อีกชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพราะบุกมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ลดความอ้วนได้ เนื่องจากไม่ให้พลังงาน ไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์จากบุกจะทำให้อิ่มและถูกขับถ่ายออกมา ซึ่งนอกจากลดความอ้วนแล้วยังสามารถลดไขมันในเลือดและในตับ และลดน้ำตาลในเลือดได้ จึงมีการนำบุกไปใช้ประโยชน์กันอย่างมากมายรวมถึงงานวิจัยเรื่องบุกก็มีมาอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษา และค้นพบสารสำคัญในพืชสกุลบุก คือ กลูโคแมนแนน ซึ่งกลูโคแมนแนนจากบุกมีพลังงานต่ำ จึงใช้เป็นอาหารลดความอ้วนดังกล่าวมาแล้ว และยังมีประโยชน์ในการช่วยบำบัดรักษา และบรรเทาอาการของโรคบางชนิดด้วย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงและไขข้ออักเสบ เป็นต้น นอกจากประโยชน์ ทางด้านอาหารและยาแล้ว กลูโคแมนแนนจากบุกยังถูกนำไปใช้ผลิตโลชั่นบำรุงผิวและอื่น ๆ อีกด้วย เรื่องราวเกี่ยวกับบุกมีมากมาย ดังเรื่องที่จะเสนอต่อไปนี้ เขียนโดย คุณชัด ขำเอี่ยม สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ในวารสารส่งเสริมการเกษตร เรื่อง บุก มีแต่ได้ไม่มีเสีย...ซึ่งคุณชัดได้เดินทางไปพบเกษตรกร ต้นแบบคือ นายประสิทธิ์ กันทัด อยู่บ้านเลขที่ 256 หมู่ 4 ต.กะบกเตี้ย อ.เนินขาม จ.ชัยนาท เมื่อถึงที่หมายแล้ว คุณชัดได้สอบถามปัญหาการทำการเกษตรและเรื่องอื่น ๆ ตามสถานการณ์ พร้อมชวนเดินสำรวจแปลง ไร่มันสำปะหลังแต่ไม่พบประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอเข้าไปสำรวจสวนส้มโอที่มีปลูกไม่กี่ ต้นนักในพื้นที่ 1 ไร่ เนื่องจากถูกโค่น ทิ้งไปหลายไร่ เปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน เพราะส้มโออายุมากแล้วและขาดน้ำที่เพียงพอ จึงพบต้น บุกป่า ขึ้นแซมใต้ต้น ส้มโอ
นายประสิทธิ์ เปิดเผยว่า บุกป่า เป็นพืชที่สามารถใช้ทำอาหารได้ทั้งส่วนของลำต้น ใบ และดอก โดยใช้ใบอ่อนที่ใบยังไม่คลี่หรือดอกมาต้มให้สุกก่อน (มิฉะนั้นเวลารับประทานจะมีอาการคันคอ) นำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือผัดกับน้ำมันหอย หรือเนื้อสัตว์ก็ได้ เพราะจะมีรสชาติคล้ายกับหน่อไม้ฝรั่ง โดยชาวบ้านนิยมนำบุกมาทำอาหารเช่นเดียวกับพืชจำพวกบอน เช่น นำมาใส่ในแกงส้ม หรือแกงเลียง แต่ลำต้นแก่ของบุกจะเหนียว ไม่นิยมนำมารับประทาน อีกทั้ง บุก ขึ้นง่าย เจริญเติบโตโดยไม่ต้องดูแลรักษา เพียงแต่ ไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในสวนไม้ผล และปัจจุบันบุกในไร่ หรือตามหัวไร่ปลายนาถูกสารเคมีป้องกัน-กำจัดวัชพืชเสียหายไปมาก ในส่วนที่รอดมาได้ก็ลำต้นคดงอไม่สวย ทั้งที่ตลาดมีความต้องการ เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบอาหารสำเร็จรูปจำหน่าย โดยเฉพาะแกงเลียง เมื่อเห็นประโยชน์จากต้นบุกแล้ว จึงนำเมล็ดพันธุ์จากบุกที่ขึ้นตามป่ามาปลูกใต้ต้นส้มโอ เน้นดูแลตามธรรมชาติโดยปล่อยสภาพให้เป็นป่ารก และไม่ใส่ปุ๋ยชนิดใด ๆ เลย แต่จะใส่ปุ๋ยคอกบำรุงต้นส้มโอปีละ 2 ครั้งเท่านั้น และถ้านำเศษวัชพืชคลุมแล้วจะเจริญเติบโตดีขึ้น และรดน้ำตามสภาพความชื้นของดิน วิธีนี้ทำให้ต้นบุกเจริญเติบโตดี วิธีการเก็บเกี่ยวมีส่วนสำคัญเช่นกันคือ ควรใช้มือกดโคนต้นก่อนใช้มือดึงลำต้นป้องกันหัวบุกติดมากับลำต้นหรือหัวบุกเคลื่อนเน่า เสียหายได้ จะเก็บได้เพียงครั้งเดียว และจะไม่มีพันธุ์ให้ขยายได้ต่อไป หลังจากปลูกไปแล้ว 1 ปีก็ตัดลำต้นอ่อนไปจำหน่ายได้ โดยสายพันธุ์ที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน คือ พันธุ์ฟ้าลั่น เพราะมี ลำต้นอ่อน ถึงแม้ลำต้นอ่อนจะมีอายุผ่านไปครึ่งเดือน ก็ยังสามารถตัดไปจำหน่ายได้ ส่วนสาย พันธุ์บุกโก ซึ่งมีลำต้นสีดำ จะปล่อยต้นอ่อนไว้นานเกิน 15 วันไม่ได้ เพราะลำต้นจะแข็งและตัดไปรับประทานไม่อร่อย ในส่วนของบุก พันธุ์คางคก เป็นบุกที่มีลำต้นขนาดใหญ่ และมีผิวลายคล้ายผิวหนังของคางคก เนื้อจะรับประทานไม่อร่อย จึงปลูกเพื่ออนุรักษ์ไว้เท่านั้น ช่วงระยะเวลาจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน เก็บจำหน่ายประมาณวันละ 4 กิโลกรัม ๆ ละ 20 บาท ระหว่างเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจะเลี้ยงลำต้นของบุกเพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เมล็ดพันธุ์ของบุกจะร่วงหล่นลงสู่ดินเพื่อรอฝนแรกแล้วจะงอกให้เก็บต้นอ่อนไปจำหน่ายเป็นรายได้โดยไม่มีต้นทุนการผลิต ซึ่งนับว่าคุ้มค่ามาก เป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งนอกจากการปลูกพืชหลัก ที่สำคัญยังเป็นการดำรงไว้ซึ่งพันธุ์บุกให้นักวิจัยได้ศึกษาต่อไปอีกด้วย.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์