นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถานการณ์ สภาพปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และป่าชายเลน ตลอดจนข้อจำกัดในการดำเนินงาน จะเห็นได้ว่าการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่า-ค้าสัตว์ป่า รวม ถึงการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤติ และยังรวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั่วไปก็มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า หากยังคงขาดแคลนอัตรากำลังเฝ้าระวังพื้นที่ ขาดแคลนยานพาหนะ อาวุธ เครื่องมือและอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่วิกฤติ ตลอดจนติดตามเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกทำลายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั่วไป ทส. จึงได้เสนอยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤติป่าไม้ของชาติ และเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของยุทธการดังกล่าวแล้ว ทางด้าน นายประวิม วุฒิสินธุ์ รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมามีการบุกรุกป่าชายเลนทั้งสิ้น 590 ไร่ จับกุมผู้บุกรุกได้ 110 คดี ในขณะนี้จำนวนพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ในภาวะวิกฤติมี 109 แห่ง กระจายอยู่ใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ชุมพร ระนอง กระบี่ ตรัง ภูเก็ต และสตูล ซึ่งจังหวัดสตูลมีพื้นที่วิกฤติมากที่สุดถึง 42 แห่ง โดยเฉพาะที่ อ.เมืองสตูล และ อ.ละงู กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับอนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานตามยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤติป่าไม้ของชาติตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 117 ล้าน บาท โดยได้จัดทำแนวเขตถาวรเพื่อป้องกันพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 1,600 กิโลเมตร ทั่วประเทศ และได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 800 กิโลเมตร และได้จัดเตรียมกล้าไม้ ป่าชายเลนลงปลูกในพื้นที่วิกฤติจังหวัดละ 100,000 ต้น นอกจากนี้ได้เพิ่มสายข่าวรถยนต์ตรวจการณ์ 8 คัน และเรือตรวจการณ์ 8 คัน ตลอดจนได้ดำเนินการติดป้ายประกาศประชาสัมพันธ์ทุกพื้นที่ป่า และ เพิ่มหน่วยลาดตระเวนเพื่อแจ้งเบาะแสการบุกรุกป่าชายเลนอีกด้วย นายประวิม วุฒิสินธุ์ กล่าว นายชากรี รอดไฝ ผู้อำนวยการสำนัก อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ทช. เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสำรวจใน 24 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา พบว่าป่าชายเลนโดนบุกรุกทุกปี ปีละกว่า 500 ไร่ จำนวนคดีเฉลี่ยปีละ 80 คดี ส่วนใหญ่จะเป็นการบุกรุกเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตรที่เรียกว่า ป่าเชิงทรง คือพื้นที่ ป่าบกอยู่ใกล้กับป่าชายเลนทำให้เกิดช่องว่างให้ราษฎรขยายการปลูกพืชล้ำเข้าไปในเขตป่าชายเลนได้ ซึ่งการทำแนวเขตถาวรจะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการแบ่ง ทำให้การบุกรุกป่าชายเลนลดน้อยลง.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์