จากที่กรมพัฒนาที่ดินได้ติดตามและประเมินการชะล้างพังทลายของดินในประเทศไทยพบว่ามีพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินทั่วประเทศ ประมาณ 108 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ ที่มีการสูญเสียดินปานกลางคือ 2-5 ตันต่อไร่ต่อปี ประมาณ 68 ล้านไร่ ระดับการสูญเสีย ดินรุนแรงที่ 5-15 ตันต่อไร่ต่อปี ประมาณ 24 ล้านไร่ ระดับรุนแรงมากที่ 15-20 ตันต่อไร่ต่อปี ประมาณ 3.2 ล้านไร่ และระดับการสูญเสียดินรุนแรงมากที่สุดจำนวน 12.8 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังพบว่าดินขาดอินทรียวัตถุกว่า 98.7 ล้านไร่ อีกด้วย นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการป้องกันการเสื่อมโทรมและการ ชะล้างพังทลายของดิน โดยใช้ หญ้าแฝก ตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรอบปีที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์และส่งเสริม การปลูกหญ้าแฝกพร้อมอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่หมอดิน เกษตรกร และประชาชนทั่วไปให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรดินและการรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่สูง พื้นที่ลาดชัน ที่ดอน และที่ลุ่ม รวมทั้งพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ปี 2553 นี้ กรมพัฒนาที่ดินได้เน้นแผนเร่งขยายผลการส่งเสริมให้เกษตรกร ชุมชนและท้องถิ่นปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ทำการเกษตร พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างถูกต้องตามสมบัติของดิน เบื้องต้นทางกรมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตที่ 1-12 และสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดเร่งผลิตต้นกล้าหญ้าแฝกเพื่อปลูกไม่น้อยกว่า 90 ล้านกล้า ซึ่งขณะนี้มีการผลิตต้นกล้าหญ้าแฝกได้แล้วกว่า 75% ทั้งยังสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นปลูกหญ้าแฝกควบคู่ไปด้วย โดยมีการปลูกไปแล้วกว่า 25 ล้านกล้า นอกจากนั้นทางกรมฯยัง ได้ผลิตกล้าหญ้าแฝกเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกร ประชาชนและชุมชนที่มีความต้องการนำไปปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูทรัพยากรดินเป้าหมาย 184 ล้านกล้า ซึ่งสามารถผลิตได้แล้วกว่า 100 ล้านกล้า ขณะที่มีการแจกจ่ายกล้าหญ้าแฝกแล้วกว่า 35 ล้าน กล้า กล้าหญ้าแฝกดังกล่าวทางกรมพัฒนาที่ดินให้บริการแก่เกษตรกรและผู้สนใจ โดยติดต่อขอรับกล้าหญ้าแฝกได้ตามสถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดของท่าน
หญ้าแฝกนี้สามารถเจริญเติบโตได้เกือบทุกสภาพพื้นที่ในเขตร้อน ตั้งแต่ที่ราบไปจนถึงภูเขาสูงระดับ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลักษณะเด่นคือ ระบบรากยาว ขึ้นเป็นกอหนาแน่น มีการแตกหน่อและใบใหม่อยู่เสมอ ทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพต่าง ๆ ได้ดีและใช้ประโยชน์ ในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะปลูกเพื่อป้องกันการกัดเซาะของทางน้ำ ปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดินในสวนผลไม้ ปลูกเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดินที่เสื่อมโทรม และปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของคันคูน้ำ ขอบสระ ไหล่ถนน และสามารถช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินและช่วยดูดซับโลหะหนักในดินและรักษาสภาพแวดล้อมได้อีกด้วย สำหรับพันธุ์หญ้าแฝกที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคเหนือ คือ พันธุ์ศรีลังกา, พันธุ์นครสวรรค์ และ พันธุ์กำแพงเพชร 1 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ พันธุ์ร้อยเอ็ด และพันธุ์สงขลา 3 พันธุ์ที่เหมาะสมกับ ภาคกลางและภาคตะวันออก คือ พันธุ์ประจวบคีรีขันธ์, พันธุ์ราชบุรี, พันธุสุราษฎร์ ธานี และพันธุ์สงขลา 3 พันธุ์หญ้าแฝกที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคใต้คือ พันธุ์สุราษฎร์ธานี และพันธุ์สงขลา 3 สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจที่จะปลูกหญ้าแฝกหรือต้องการต้นกล้าหญ้าแฝก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดทุกจังหวัด และหมอดินอาสาในพื้นที่ของท่าน.
tidtangkaset@dailynews.co.th
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์