อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอน แก่น เป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 256,250 ไร่ ในอดีตอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก กระทั่งจัดว่าเป็นครัวของคนอีสาน แต่ปัจจุบันปริมาณสัตว์น้ำและความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอาจเกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำบางชนิดในที่สุด ทั้งนี้ เป็นเพราะความต้องการบริโภคสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และสภาพเศรษฐกิจที่ประชาชนเข้ามาทำการประมงจับสัตว์น้ำในบริเวณนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ในการยังชีพมากขึ้นกว่าในอดีต โดยจากผลสำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2512-2550 พบว่า ผลจับสัตว์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ลดลงอย่างรุนแรง จากที่เคยมีผลการจับสูงถึง 2,522 ตัน เหลือเพียง 619 ตัน ในปี พ.ศ. 2549 และเป็นเหตุให้ปลาบางชนิด อาทิ ปลากาดำ และปลาพรม อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ด้วย ล่าสุดทางกรมประมงได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการ เร่งคืนความสมบูรณ์ ให้กับทรัพยากร สัตว์น้ำ โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (เขื่อนอุบลรัตน์) จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรประมง ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ปี 2553-2555 ขึ้น สำหรับใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูสัตว์น้ำให้กลับคืนดังเช่นอดีต
โดยมีการดำเนินการในกิจกรรม โครงการต่าง ๆ อาทิ การเพาะพันธุ์ปลาพื้นเมือง พันธุ์กุ้งก้ามกราม เพื่อปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อน และถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมงอีกด้วย นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ส่งเสริมให้ชุมชนประมงต้นแบบบ้านท่าลาดเป็นหลักในการจัดการเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตโครงการ โดยการกำหนดแนวเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำและให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำประมงในชุมชน รวมทั้งจัดทำทะเบียนชาวประมงสำหรับควบคุมเครื่องมือการทำประมงและมีการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ และเยาวชน เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกรักและหวงแหนในทรัพยากรสัตว์น้ำ และจากความเข้มแข็งของชุมชนประมงต้นแบบบ้านท่าลาดส่งผลให้ได้รับรางวัลชุมชนประมงต้นแบบดีเด่น ประจำปี 2552 นอกจากนี้ ทางกรมประมงยังฟื้นชีวิตอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจัดให้มีวังปลา เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม มีการจัดแนวเขตอนุรักษ์ และการจัดทำบ้านปลาเพื่อเพิ่มแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยในเขต อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งมีการอนุบาล ลูกปลาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มอัตราการรอด ในการดำเนินงานโครงการวังปลาในครั้งนี้ ชาวบ้านในบริเวณพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้ให้ความร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น และจากการติดตามประเมินผลปริมาณสัตว์น้ำ หลังจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าวนี้ พบปริมาณสัตว์น้ำมากกว่านอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ 5 เท่า และยังพบชนิดพันธุ์ปลามากกว่า 8 ชนิด ได้แก่ ปลากระมัง ปลาหมอช้างเหยียบ ปลากระสูบขีด ปลากระสูบจุด ปลาไส้ตันตาแดง ปลาหลังหนาม และปลาแป้นแก้ว อีกทั้ง ปลากาดำ และปลาพรม ที่เคยสูญหายไปจากแหล่งน้ำแห่งนี้มานานนับ 10 ปีแล้ว กลับมามีให้เห็นเหมือนดังเช่นอดีต จากผลความร่วมมือร่วมใจของชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ทำให้สัตว์น้ำที่เคยหาย ไปจากบริเวณนี้ กลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงเปรียบเสมือนสัญญาณที่ดี ในความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากร ประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์อย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของทุก ๆ ฝ่ายที่ เกี่ยวข้อง.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์