จริงจัง-หรือ 'เลี้ยงไข้' ไปตามวันเวลา?
ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ทิวทัศน์สวยงาม มีเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะยอ ซึ่งเป็นแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา เกาะสี่ เกาะห้า ซึ่งเป็น เกาะรังนก ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 3 จังหวัด คือ สงขลา, พัทลุง และนครศรีธรรมราช ความสำคัญของทะเลสาบสงขลานั้น สิ่งที่คนทั้งประเทศรับรู้ คือ ความสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวใน จ.สงขลา มีอุทยานนกน้ำคูขุด อ.สทิงพระ รวมทั้งเขตอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เลื่องชื่อ
แต่ที่สำคัญ ทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งประกอบอาชีพของชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมทะเลสาบ ในทั้ง 3 จังหวัด ผู้คนในชุมชนมีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ การ ยืนยงของทะเลสาบ หรือการล่มสลายของทะเลสาบ ย่อมส่งผลกระทบกับคนกลุ่มใหญ่ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับลุ่มน้ำแห่งนี้ และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ขณะนี้ ทะเลสาบสงขลา ได้เกิดอาการ ป่วยไข้ อย่างยาวนาน ซึ่งอาการเจ็บป่วย และทรุดหนักของทะเลสาบสงขลา เกิดจากฝีมือของมนุษย์ ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกต้อง ถ่ายเทของเสียทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม จากภาคเกษตร การทำนากุ้ง ทับถมลงสู่แม่น้ำลำคลอง และสุดท้ายปลายทางของ แม่น้ำ ลำคลองเหล่านั้น คือทะเลสาบสงขลา ที่ต้องรับสิ่งปฏิกูลทั้งหมดเอาไว้ จนทำให้เกิดความตื้นเขิน น้ำไม่ไหลเวียน และ เน่าเสียส่งผลกระทบ กับระบบนิเวศ ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนริมทะเลสาบ จากทะเลสาบที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์น้ำนานาชนิดที่เป็นแหล่ง สร้างงาน สร้างเงิน ให้กับชุมชน กลายเป็นทะเลสาบที่ขาดความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คน และมีปัญหาในเรื่องอุทกภัยกับพื้นที่รอบ ๆ ทะเลสาบ
ที่ผ่านมาทุกรัฐบาล ต่างมีความคิดในการ ฟื้นฟู และ เยียวยา ความ ป่วยไข้ ของทะเลสาบสงขลา มาโดยตลอด เช่น มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในระยะ 10 ปี ข้างหน้า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 มอบให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักนโยบายและ แผนทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) เป็นหน่วยงาน หลัก ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผน แม่บท และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ในแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเล สาบสงขลา ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 แต่สุดท้าย นอกจากการศึกษาแล้วศึกษาอีกจนเอกสารในการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีมากมาย แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่เคยมีการลงมือเพื่อ แก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมให้เห็นอย่างเด่นชัด สิ่งที่เห็น คือ การจัดเวทีรณรงค์ ให้ประชาชนรอบ ๆ ทะเลสาบร่วม กันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับระบบนิเวศวิทยา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน รัฐบาลหยิบการ ฟื้นฟู ความ ป่วยไข้ ของทะเลสาบสงขลา ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ศึกษา และทำแผนแม่บทเอาไว้แล้ว ทำหน้าที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลาในพื้นที่ 3 จังหวัดอีกครั้งหนึ่ง นัยว่าเพื่อนำความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน มาปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน ในขณะที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความตื้นเขินของทะเลสาบสงขลา และการจัดระเบียบเครื่องมือการทำประมงในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ได้นำเสนอโครงการขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือในทะเลสาบต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณ 1,308 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2553 เพื่อใช้ในการขุดร่องน้ำความกว้าง 120-200 เมตร โดยเชื่อว่าการขุดร่องน้ำในทะเลสาบ จะทำให้สามารถแก้ปัญหาอุทกภัย และทำให้สัตว์น้ำเพิ่มปริมาณมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้ยังไม่ทราบว่ามีอยู่ในแผนแม่บทของการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำ โดยไม่ต้องบูรณาการด้วยกัน การแก้ปัญหาความ ป่วยไข้ ของทะเลสาบสงขลา ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำทางด้านภูมิศาสตร์สำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัด มีความผูกพักกับความเป็นความ ตายของผู้คนจำนวนมาก แม้จะต้องใช้งบประมาณเป็นพัน ๆ ล้าน ก็ต้องใช้ เพราะการลงมือแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ย่อมดีกว่าการศึกษาแล้ว ศึกษาอีก หรือศึกษา ฟังความคิดเห็นต่อไปเรื่อย ๆ รวมทั้งอนุมัติงบประมาณครั้งละร้อยล้านพันล้าน เพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเป็นการ เลี้ยงไข้ ไว้เท่านั้น.
ไชยยงค์ มณีพิลึก
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์