เครื่องถอนกล้ายางฯ
"ยางพารา" พืชที่หลายคนมองว่าเป็นตัวทำรายได้ สร้างเศรษฐกิจที่ดีเข้าสู่ประเทศ พืชดังกล่าวจะเป็นแหล่งทำเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอย่างยาวนานได้นั้น ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจังตั้งแต่ เพาะกล้า การติดตา และ เพาะในถุงดำ ที่ต้องใช้แรงงานคน "ถอน" ซึ่งเหนื่อยหนักเอาการ
นายประกาศิต ล่องโลด พร้อมคณะ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้ร่วมวิจัยประดิษฐ์ เครื่อง "ถอนกล้ายางพารา" ขึ้น เป็นการผ่อนแรง โดยมี อาจารย์เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ และ อ.สุวารี พงศ์ธีระวรรณ เป็นที่ปรึกษาโครงการ
นายประกาศิต บอกถึงที่มาของการวิจัยว่า การเกษตรนอกจากพวกผลไม้ มังคุด ทุเรียนแล้ว ยางพารากับปาล์มน้ำมันยังสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศปีหนึ่งมี มูลค่ามหาศาล ฉะนั้น จึงควรค้นหาเครื่องทุ่นแรงที่ใช้การลงทุนไม่มากนักให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ที่นอกจากเป็นพืชสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรภาคใต้ ยังเป็นอาชีพของครอบครัว
นายประกาศิต ล่องโลด
...ในการถอนกล้ายางเพื่อนำมาชำถุง ชาวบ้านใช้วิธีพรมน้ำ (ปล่อยพอประมาณ) ลงดิน แล้วใช้ผ้าขาวม้าผูกเอว เพื่อถอนต้นกล้ายางที่มีรากลึกลงดินอยู่ที่ 20-68 ซม. กว่าจะได้แต่ละต้นต้องใช้แรงค่อนข้างมาก เพื่อช่วยผ่อนแรง จึงเริ่มศึกษา เริ่มตั้งแต่ "การวัดแรง" ทั่วไปจะมีเครื่องมือวัดว่าต้องใช้แรงเท่าไร แต่ทีมงานใช้วิธี "ภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน" ด้วยการนำตาชั่ง 60 กก. ไม้ และคาน
ผูกกับเชือกแบ่งอัตราส่วนการวัด 1 ต่อ 3 สำหรับวัดหาแรงการถอน กระทั่งได้ค่าออกมาอยู่ที่ 10 -170 กก. หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 140-1,700 นิวตัน/ ต้น แล้วทำการศึกษาหาข้อมูลต่อ พบว่าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตภาคใต้ เคยทำวิจัยเครื่องถอนกล้ายาง ซึ่งใช้ระบบคาน ซึ่งหากต้นกล้ายางที่ต้องใช้แรงถอน 1,200 นิวตัน จะไม่สามารถถอนได้ อีกทั้งยังทำงานช้ากว่าแรงงานคน จึงนำมาตั้งโจทย์หลักในการสร้างเครื่องที่เน้นปริมาณการถอน และสภาพพื้นที่นำไปใช้
ในการออกแบบนั้น นายประกาศิตบอกว่า ใช้หลักการของ "เครื่องตัดหญ้า" ที่ขนาดล้อใหญ่ สามารถเข็นเข้าไปใช้ในพื้นที่ขรุขระได้ดี พร้อมทั้งทดสอบขนาดล้อซึ่งถ้าใช้ขนาดใหญ่เกินไปจะมีผลต่อแรงในการถอน โดยขนาดเหมาะสมที่สุดคือ 17 นิ้ว สามารถนำไปใช้งานได้ในทุกสภาพพื้นที่ จากนั้นจึงออกแบบเครื่อง "ถอน" ซึ่งการทำงานเป็นระบบไฮดรอลิก กำลัง 300 กก. (3,000 นิวตัน)
ต้นกล้าที่ถอนขึ้นจากดินด้วยเครื่องฯ
....ประกอบด้วย โครงเหล็กสี่เหลี่ยม แบตเตอรี่ ชาร์จด้วยไฟบ้านขนาด 24 โวลต์ ทำงานได้ประมาณ 4 ชั่วโมง ล้อรถเข็น ชุดกระบอกไฮดรอลิก มี คีม ติดแผ่นตะปูเป็นตัวยึดจับกล้ายางพารา ควบคู่กับ โซ่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวดึงคีมยึดจับถอนกล้ายางพารา การทำงานของกระบอกไฮดรอลิก 2 ทิศทางคือ เคลื่อนที่ขึ้น-ลง ทั้งหมดจะควบคุมด้วยสวิตช์
...ชุดกระบอกไฮดรอลิกหมุนได้ 180 องศา สามารถนำต้นกล้าไปไว้ด้านข้างเครื่องถอน เสร็จแล้วทำการเปรียบเทียบแรงงานคน พร้อมทั้งนำไปให้เกษตรกรกลุ่มเพาะกล้ายางพาราในพื้นที่ทดลองใช้เครื่อง ต่างให้การยอมรับในเรื่องของ ความสะดวกในการใช้งาน การช่วยผ่อนแรง ความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 311 ต้น/ชม. ส่วนแรงงานคนอยู่ที่ 245 ต้น/ชม. รวมทั้งความเหมาะสมของราคาซึ่งอยู่ที่ 6,500 บาท/เครื่อง
สำหรับเกษตรกรรายใดสนใจเครื่องถอนกล้ายางฯ สามารถกริ๊งกร๊างสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-7727-2104 ในวันและเวลาที่เหมาะสม.