การเกษตรเป็นอาชีพพื้นฐานของประเทศไทย ที่สามารถหล่อเลี้ยงคนในชาติและสร้างชื่อเสียงในการส่งออกสินค้าเกษตรมากมายเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าไทยจะเป็นผู้นำด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคต แต่ด้วยสภาพปัจจุบันที่ประชากรภาคเกษตรกรรมลดปริมาณลงเรื่อย ๆ จนน่าวิตกกังวลว่าอาชีพเกษตรกรจะลดเลือนหายไปในไม่ช้า สาเหตุหลัก ๆ คือความไม่มั่นคงทางราย ได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมนี่เองทำ ให้ลูกหลานของเกษตรกรไม่พึงพอใจและหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ส่งผลให้ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศจึงเป็นผู้สูงอายุ การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ที่ดูแลเกษตรกรไทยทั้งประเทศ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพออกสู่สังคม ยุวหมอดิน เป็นหนึ่งโครงการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่มุ่งเน้นการสร้างหมอดินรุ่นเยาว์ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำ สามารถเป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ลูกหลานเกษตรกรและเกษตรกร โดยเฉพาะที่เป็นผู้ปกครองและคนในละแวกชุมชน นายเกษม ทองปาน รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินโครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนและยุวหมอดินควบคู่ไปด้วยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ และปลูกจิตสำนึกการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนให้มีความรู้พื้นฐานด้านการเกษตรอย่างถูกต้อง สามารถขยายผลไปสู่ผู้ปกครองและเกษตรกรทั่วไปได้ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งอาหารกลางวันให้กับนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร โครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนและยุวหมอดินเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งจนถึงขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วกว่า 600 โรงเรียน เป้าหมายอยู่ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารเป็นหลัก ด้าน ยุวหมอดินปาล์ม จาก โรงเรียน วัดเกาะวังไทร จ.นครปฐม ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ดีเด่นประจำปี 2552 ระดับประเทศของกรมพัฒนาที่ดิน เล่าว่า ที่โรงเรียนของเราพื้นที่บางส่วนเป็นดินเปรี้ยวเพาะปลูกอะไรก็ไม่ค่อยได้ผล แต่เมื่อเราได้เข้ารับการอบรมและเข้าค่ายยุวหมอดินที่กรมพัฒนาที่ดินจัดขึ้น ก็มีความรู้เรื่องดินและวิธีการจัดการทรัพยากรดินมากขึ้น อย่างเรื่องแก้ปัญหาดินเปรี้ยวเพียงแค่นำปูนมาร์ลมาปรับปรุงดินหมักปูนไว้และใส่ปุ๋ยหมักเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ก็สามารถปลูกพืชผลได้แล้ว ซึ่งในพื้นที่นี้ทางกลุ่มได้เลือกปลูกกล้วยเพราะเป็นพืชที่ทนกรดได้ดี และยังโตเร็วอีกด้วย นอกจากปลูกกล้วยแล้ว ยังมีแปลงปลูกผักอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะแบ่งผลผลิตออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะประมูลขายให้พ่อค้าแม่ค้าในโครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับประทานผักที่ปลอดภัยไร้สารพิษ อีกส่วนหนึ่งทางกลุ่มจะนำมาขายให้กับผู้ปกครอง คุณครูและนักเรียนในโรงเรียน เป็นการหารายได้พิเศษช่วยเหลือพ่อแม่ได้ไม่น้อยเลย ที่บ้านผมมีอาชีพเสริมคือปลูกผักสวนครัวขายด้วย ผมคิดว่าสารเคมีทางการเกษตรอาจทำร้ายผู้ใช้ได้ เช่น สารอาจเข้าตาโดนผิวหรือเราอาจจะหายใจสูดดมเข้าไป ทำให้เราไม่สบาย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และผู้บริโภคก็ได้กินผักอาบสารพิษ ผมก็เลยใช้สารเร่ง พด.7 ผลิตน้ำหมักชีวภาพป้องกันแมลงศัตรูพืช และใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ทำน้ำหมักชีวภาพเพิ่มคุณภาพผลผลิต เมื่อใช้สารอินทรีย์คนที่บ้านก็ได้รับประทานผักที่ปลอดภัยเพราะเราปลูกเองกับมือ ส่วนคนที่มาซื้อผักร้านเราก็หายห่วง แถมได้ซื้อผักในราคาย่อมเยาเพราะจากบ้านไปตลาดใกล้นิดเดียว จึงไม่ต้องบวกค่าขนส่งและค่าปุ๋ยเคมี ได้ประโยชน์ถ้วนหน้ากันทุกฝ่าย ...นี่คือความคิดของยุวหมอดิน แสดงได้อย่างชัดเจนถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมิให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ได้ นั่นหมายถึงว่า มนุษย์ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์