นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เผยถึงสาเหตุของปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาว่า ปริมาณน้ำที่เก็บกักในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณไม่มาก อีกทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาผลิตผลทางการเกษตรค่อนข้างดีส่งผลให้เกษตรกรมีการปลูกพืชจำนวนมาก จึงทำให้การใช้น้ำมากตามไปด้วย ซึ่งเป็นการเอาน้ำในอนาคตมาใช้และในช่วงฤดูฝนของปีที่แล้วฝนค่อนข้างทิ้งช่วง ทั้งยังมีผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และสถานการณ์เอลนีโญ จึงทำให้ฝนตกน้อย อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 11,641 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ณ วันที่ 27 พ.ค.53 มีน้ำรวมกันอยู่ประมาณ 1,193 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 5% ดังนั้น จำเป็นต้องเฝ้าดูสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงต้นฤดูฝนจึงต้องรอดูว่าปริมาณน้ำฝนที่จะตกมานั้นจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด อธิบดีกรมชลประทานเผยอีกว่า นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ปรับระบบการปลูกข้าวใหม่ปีละ 2 ครั้ง และคั่นด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำขณะนี้มีอยู่อย่างจำกัด หากเกษตรกรยังคงปลูกข้าวระบบเก่าที่ปลูกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีอาจจะต้องเสี่ยงกับปัญหาขาดแคลนน้ำและทำให้ผลผลิตเสียหายได้ นอกจากนี้ การปรับระบบปลูกข้าวใหม่ยังช่วยแก้ไขปัญหาศัตรูพืชได้อีกทางหนึ่งด้วย.
ที่มา : ข่าวไทยรัฐ ออนไลน์