การดำเนิน โครงการส่งเสริมการประกอบอาชีพราษฎร เพื่อขับเคลื่อนขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในด้านการพัฒนาในพื้นที่ชนบท ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทดลองแก่ราษฎร และนำไปขยายผลในการพัฒนาชุมชน หรือหมู่บ้าน ตามความเหมาะสม รวม 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตรอยต่อ ต.ป่าเมี่ยง และ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ต่อมาในปีงบประมาณ 2553 กรม การปกครองได้กำหนดให้มีการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป็นนโยบายเน้นหนักประจำปี มีการจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอละ 1 ศูนย์ ทั้ง 877 อำเภอ มีโครงการรองรับอำเภอละ 1 โครงการหมู่บ้านละ 1 กิจกรรม โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ในส่วนของ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ได้ตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระดับอำเภอขึ้น ณ บริเวณกองร้อยอาสารักษาดินแดน อ.กุดจับ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ ข้อมูลในการสนับสนุน และขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการ ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน ได้ศึกษาค้นคว้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงานและนำไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีวิตตามภูมิสังคม รวมทั้ง เป็นศูนย์กลางการบูรณาการส่วนราชการในพื้นที่ระดับอำเภอ เพื่อนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานขยายผลไปสู่ประชาชน นายนิคม ศิริสิงห์สังข์ชัย นายอำเภอกุดจับ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้ ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระดับอำเภอกุดจับ ได้เริ่มดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่น ได้มีการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ จัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการปลูกพืชผักผสมผสานการเลี้ยงปลาในสระ มีการใช้น้ำที่ประหยัดและเหมาะสม เพื่อให้ราษฎรที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้เป็นแบบอย่าง ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้น้อมนำหลักการทรงงานใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด เป็นหลักในการดำเนินงาน และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัว และการมีความรู้ควบคู่คุณธรรม เป็นแนวทางดำเนินงาน ซึ่งในอนาคตศูนย์ฯแห่งนี้จะเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และเป็นสถานที่ฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอกุดจับ อย่างต่อเนื่อง
นายอำเภอกุดจับ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้มาอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงโค สุกร การปลูกพืชผัก รวมทั้งการมอบเมล็ดพันธุ์พืช ข้าวสาร ถังเก็บน้ำ ลูกสุกร และแม่โค ให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรสามารถดำรงอยู่ได้โดยมีอาชีพที่เหมาะสม และสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด ซึ่งจะสอดคล้องกับพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่พึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป ในหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาต่าง ๆ นานา แต่การแก้ไขนั้นหลายอย่างไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะความยากจน ที่คนเราบ่นกันนักหนาว่า ไม่รวยสักที นั่นหมายถึง คิดแต่จะรวย ขณะเดียวกันกลับไม่รู้จักวิธีแก้ไขในหนทางทำกิน และกลับมองความจน เป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้ แต่ละแห่ง ไม่ใช่ศูนย์แห่งการเอาชนะความจน หรือหนทางไปสู่ความรวย แต่เป็นหนทางของการเรียนรู้ที่จะทำในสิ่งที่คิดว่าดีกว่า บนโลกแห่งความเป็นจริง.
พีระ วีระชัย
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์