นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในช่วงเริ่มเข้าฤดูฝนขณะนี้ปริมาณน้ำยังคงอยู่ที่ประมาณ 19,300 ล้าน ลบ.ม. ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อย สืบเนื่องมาจากฤดูฝนปีก่อน ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ใช้เพื่อการเกษตรต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสวนทางกับราคาผลผลิตทางการเกษตรที่มีแนวโน้มค่อนข้างดี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมี นโยบายในเรื่องการปรับเปลี่ยนและวางรูปแบบวิธีการปลูกข้าวใหม่ ทั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรฯ โดยมีกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลัก ทำงานร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร องค์กรส่วนท้องถิ่นทั้งในระดับตำบลและจังหวัด และกรมชลประทาน ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาเป็นรูปแบบการปลูกข้าวที่สอดคล้องกับการบริหารการจัดการน้ำ และปริมาณน้ำต้นทุนเฉลี่ย ได้ 3 กรณี ดังนี้ คือกรณีปลูกข้าวนาปี-พืชหลังนา-ข้าวนา ปรัง กล่าวคือ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีได้เต็มพื้นที่ หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนาที่ใช้น้ำน้อยได้เต็มพื้นที่เช่นกัน เมื่อเก็บผลผลิตแล้วปริมาณน้ำที่เหลือใช้สำหรับปลูกข้าวนาปรัง กรณีปลูกข้าวนาปี-เว้นปลูก-ข้าวนาปรัง กล่าวคือ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีได้เต็มพื้นที่ เก็บเกี่ยวเสร็จให้เว้นการปลูกพืชทุกชนิดปล่อยพื้นที่นาให้ว่างประมาณ 2 เดือน จากนั้นสามารถปลูกข้าวนาปรังได้จำนวนเหมาะสมตามปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ และกรณีปลูกข้าวนาปี-พืชหลังนา-พืชไร่ กล่าวคือ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีได้เต็มพื้นที่ หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จ ให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนาที่ใช้น้ำน้อย และพืชไร่ตามลำดับได้เต็มพื้นที่เช่นกัน อธิบดีกรมชลประทานกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวได้มีการประชุมชี้แจงให้เกษตรกรรับทราบแล้ว และเกษตรกรส่วนใหญ่เห็นด้วย พร้อมที่จะปฏิบัติตาม โดยในเบื้องต้นจะมีการหาข้อสรุปและทดลองใช้ นำร่องในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวแหล่งใหญ่ของภูมิภาคที่ประสบปัญหาปริมาณน้ำใช้เพื่อการเกษตรมากที่สุด.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์