ปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตลำไยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือออกสู่ตลาดรวมประมาณ 396,959 ตัน ดังนั้นเพื่อบริหารจัดการผลผลิตลำไยให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศพร้อมป้องกันการเกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ปลูกลำไยในแหล่งผลิตสำคัญ 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ มีมติเห็นชอบ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเสนอขออนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จำนวน 557.59 ล้านบาท เป็นเงินจ่าย ขาด 157.59 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียน 400 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการบริหารจัดการลำไย ปี 2553 ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป้าหมาย 158,000 ตัน นายกมล เกษมศุข รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการฯนี้กำหนดแผนดำเนินการภายใต้ 4 มาตรการหลัก คือ มาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศ จำนวน 10,000 ตัน โดยจะสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี วงเงิน 100 ล้านบาท ให้กับกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดซื้อลำไยสดเพื่อเร่งระบายออกนอกแหล่งผลิต ทั้งยังสนับสนุนเงินจ่ายขาด 20 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยค่าบริหารจัดการและค่าขนส่งเหมาจ่ายไม่เกินกิโลกรัมละ 2 บาท ระยะทางไม่น้อยกว่า 500 กิโลเมตรแก่สถาบันเกษตรกรและผู้เข้าร่วมโครงการฯกับจังหวัดในการกระจายผลผลิตสู่ตลาดปลายทาง ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2553 มาตรการผลักดันการส่งออก เป้าหมาย 30,000 ตันสด (3,000 ตันแห้ง) ได้มีแผนสนับสนุนเงินจ่ายขาด วงเงิน 75 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยค่าขนส่งเหมาจ่ายอัตรากิโลกรัมละ 2.50 บาท ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯซื้อลำไยสดช่อในช่วงผลผลิตออกมาก เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม-15 สิงหาคมนี้ นอกจากนั้นยังมี มาตรการส่งเสริมการแปรรูป เป้าหมาย 118,000 ตัน แยกเป็นการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 30,000 ตันสด โดยจะสนับสนุนแหล่ง เงินกู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงินกู้ 200 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และ อปท. ซึ่งจะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกิน 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี (เงินจ่ายขาด 6 ล้านบาท) เพื่อใช้ดำเนินการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง เป้าหมาย 18,000 ตันสด อีกส่วนเป็นการแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งผลเป้าหมาย 100,000 ตันสด ซึ่งโครงการฯ จะสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ วงเงินกู้ 1,000 ล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกิน 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี (เงินจ่ายขาด 30 ล้านบาท) เพื่อซื้อลำไยนำไปอบแห้งทั้งผลในช่วงระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-31 สิงหาคม ขณะเดียวกันยังสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน (คชก.) อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี จำนวน 300 ล้านบาท ให้กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในการจัดซื้อลำไยอบแห้งทั้งผลระบายออกนอกแหล่งผลิต จำนวน 6,000 ตัน เพื่อรักษาระดับราคาลำไยสดให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น มาตรการสุดท้าย คือ มาตรการส่งเสริมการบริโภคและตลาดลำไย มีแผนสนับสนุนเงินจ่ายขาด 7 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานเทศกาลรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคและจำหน่ายลำไยใน 5 จังหวัดแหล่งผลิต และสนับสนุนให้จังหวัดปลายทาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี ขอนแก่น หนองคาย อุดรธานี สุราษฎร์ธานี และปทุมธานี เพื่อจัดงานส่งเสริม การบริโภคลำไยด้วย อีกทั้งยังสนับสนุน เงินจ่ายขาด 15 ล้านบาท เพื่อจัดงานประชาสัมพันธ์และรณรงค์การบริโภคลำไยพร้อมส่งเสริมการจำหน่ายใน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศคู่ค้าเดิม คือ อินโดนีเซีย และจีน 4 มณฑล (เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน เสิ่นเจิ้น และเซิ่นหยาง) ประเทศคู่ค้าใหม่ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลี ฟิลิปปินส์ อินเดีย และประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม เป็นต้น คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นช่องทางช่วยระบายและกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิตในช่วงผลผลิตกระจุกตัวได้ตามเป้าหมาย 158,000 ตัน ขณะเดียวกันยังมีการดูดซับผลผลิตเข้าสู่ธุรกิจแปรรูป ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคาลำไยไม่ให้ตกต่ำจนทำให้เกษตรกรเดือดร้อนได้.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์