ข้าวหอมมะลิไทย ถือเป็นสุดยอดข้าวคุณภาพระดับโลก ไม่มีประเทศ ไหนที่มีข้าวหอมมะลิเหมือนอย่างประเทศไทย และไม่มีประเทศไหนที่มีข้าวเมล็ดยาวและมีกลิ่นหอมชวนรับประทานเท่าข้าวหอมมะลิของไทย ปัจจุบันข้าวหอมมะลิที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลายคือพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข.15 แต่ราคาข้าวหอมมะลิค่อนข้างตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวหอมมะลิ 105 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 80-100 ถังต่อไร่ ปลูกได้หลายครั้งต่อปี และสามารถปลูก ได้ดีในที่ลุ่มบริเวณที่ราบภาคกลาง ขณะที่ข้าวหอมมะลิ 105 ให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 30-40 ถัง และปลูกได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น ทางรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ชาวนาเน้นการ ปลูกข้าวพันธุ์ ปทุมธานี 1 มากกว่า ซึ่งข้าวพันธุ์ ปทุมธานี 1 แม้ว่าจะมีความหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ ไม่ใช่ ข้าวหอมมะลิ เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวที่สร้างความ วิตกให้กับชาวนาและรัฐบาลไทยไม่น้อย เมื่อศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรมมหา วิทยาลัยลุยเซียนา มลรัฐลุยเซียนา สหรัฐ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ค้นคว้าและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ แอลเอ 2125 มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย และตั้งชื่อคล้ายคลึงกันว่า แจสแมน (JAZZMAN) เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยใช้ ชื่อภาษาอังกฤษว่า จัสมิน (Thai jasmine rice) (Official name Thai Hom Mali) ซึ่งมีคุณสมบัติและมีกลิ่นหอมใกล้เคียงข้าวหอมมะลิไทย และยังให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 3 เท่า จึงอาจเป็นคู่แข่งสำคัญที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา และประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ อาทิ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐเบนิน เป็นต้น สำหรับข้าวแจสแมน ศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรมสหรัฐ ได้เริ่ม การทดลองผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2509 โดยนำข้าวกลิ่นหอมของจีนสายพันธุ์ 96a-8 มาผสมกับข้าวเมล็ดยาวของรัฐอาร์คันซอใช้เวลา 12 ปีจึงเป็นผลสำเร็จ สามารถให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณไร่ละ 1,265 กิโลกรัม ขณะที่ข้าวไทยมีผลผลิตประมาณไร่ละ 400 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งชาวนาผู้ปลูกข้าวดังกล่าวยืนยันว่า ชาวนาในลุยเซียนาจะหันมาปลูกข้าวนี้มากขึ้น และช่วยทดแทนการนำเข้าข้าวหอม มะลิจากไทยได้
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกสูง โดยปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิ รวมกว่า 2.63 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 68,577.7 ล้านบาท และปี 2553 นี้ ได้ส่งออกไปแล้วทั้งสิ้น 2.10 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,776.8 ล้านบาท ทั้งนี้การส่งออกข้าวไทยในปัจจุบันเป็นการค้าแบบเสรีในลักษณะที่ผู้ส่งออกตกลงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีลักษณะการส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล และ ในปี พ.ศ. 2546 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยทำสถิติสูงที่สุดถึง 7.597 ล้านตัน ทำรายได้ให้ประเทศ 76,368 ล้านบาท โดยส่งไปขายทั่วโลก 173 ประเทศ ตลาดหลักของ ข้าวไทยอยู่ในทวีปเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกา ยุโรป และโอเชียเนีย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวหอมมะลิไทยเอาไว้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ของประเทศ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยให้แข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกที่มีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า (AFTA) ซึ่งคาดว่าจะมีสินค้าข้าวจากเพื่อนบ้านเข้ามาตีตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทยขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงมีความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของมาตรฐานฯ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติสู่ระบบการรับรอง ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าแผน ต่าง ๆ ที่ได้วางขึ้นมานั้นจะสามารถสกัดกั้นไม่ให้ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ เจาะไข่แดงข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลกในอนาคตต่อไปได้หรือไม่.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์