แก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมในจังหวัดแพร่ หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ เป็นความตอนหนึ่งในพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ วันที่ 17 มีนาคม 2529
ขณะนี้ชาวแพร่ทั้งจังหวัดกำลังเร่งสร้างฝาย 1 ล้านฝายเท่ากับ 1 แก่งเสือเต้น เพื่อสร้างแหล่งน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง และกักเก็บน้ำตามลำห้วยสาขา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในปีข้างหน้า เพราะมองถึงอนาคตที่ชาวแพร่ทั้งจังหวัดต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ในเวลาเดียวกันได้มีการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางควบคู่กับการสร้างฝายแก้ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดแพร่
นายชลิต ดำรงค์ศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เป็นห่วงจังหวัดแพร่ เป็นอย่างมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมาจังหวัดแพร่ประสบปัญหาอุทกภัย และปัญหาภัยแล้ง อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีโครง การพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ แต่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำยม และปัญหาการเกิดอุทกภัยในเขตต่าง ๆ ของจังหวัดแพร่
กรมชลประทาน จึงได้กำหนดกรอบการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการ นำมาสู่กระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อให้ เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า โดยการบูรณาการ ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบครบวงจร ได้แก่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานระดับจังหวัด และหน่วยงานราชการในพื้นที่ ให้เข้ามารับรู้และแบ่งปันข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ตั้งแต่ความคิด และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน การลงมือปฏิบัติร่วมกัน และการติดตามผลการดำเนินงานร่วมกัน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แพร่ เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงประเมินค่าไม่ ได้ด้วยเหตุดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พิจารณาแล้วเพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดเป็นไปอย่างมีประ สิทธิภาพ ตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หากจังหวัดแพร่พิจารณาว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งกรมป้องกันและบรร เทาสาธารณภัยได้อนุมัติให้จังหวัดแพร่ ขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่ กรณีภัยพิบัติ ต่อไปอีกระยะหนึ่งตามความเหมาะสม
นายไพโรจน์ คชนิล ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 4 กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของจังหวัดแพร่ หลายหน่วยงานได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการแก้ไขฟื้นฟู โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สาย จึงเกิดขึ้น โดยตั้งอยู่ที่หมู่ 9 บ้านสันกลาง ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ เป็นอีกโครงการหนึ่งของกรมชลประทาน ที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนเมี่ยง สวนกาแฟ สวนหน่อไม้หวาน และสวนผัก รวมทั้งหารายได้เสริมจากการเก็บสมุนไพรตามฤดูกาล กรมชลประทาน เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการก่อสร้าง ด้วยราคาค่าก่อสร้าง 317,913,000 บาท เวลาดำเนินงาน 780 วัน ประเภทของโครงการ ลักษณะก่อสร้างเป็นเขื่อนดิน ความสูง 32 เมตร ความยาวสันเขื่อน 245 เมตร กว้าง 9 เมตร อาคารระบายน้ำล้นขนาด 159.75 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 10.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างได้ผลงานคืบหน้าประมาณ 25%
ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 4 กล่าวอีกว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับคาดว่า จะใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนในด้านเกษตรกรรมแก่พื้นที่บางส่วนในฤดูฝน 15,000 ไร่ ในฤดูแล้ง 3,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 13,733 ครัวเรือน เป็นแหล่งน้ำดิบของการประปาสุขาภิบาลช่อแฮ มีน้ำอุปโภคบริโภคและเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด ราษฎรจะมีสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการแก้ไขน้ำแบบยั่งยืน ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนในฤดูน้ำหลาก และภัยแล้งได้ในอนาคต อีกทั้งจะเป็นสวนพฤษชาติสถานที่พักผ่อน และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในโอกาสต่อไป หลายหน่วยงานเข้าใจว่า ภัยแล้ง จะจบลง ง่าย ๆ หากเข้าหน้าฝน แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในหลายพื้นที่ของประเทศ ยังประสบปัญหาอย่างหนัก การสร้างฝาย และเขื่อน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำ จึงเดินเครื่องเต็มสูบเพื่อแก้ไขทุกข์ให้พี่น้องประชาชน ตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นห่วงพสกนิกรถึงปัญหาเรื่องน้ำกิน น้ำใช้ และเกษตรกรรม.
ทวีศักดิ์ สุขเกษม/โชคชัย พนมขวัญ
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์