จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มภาคใต้ทางฝั่งทะเลอันดามัน ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ยังความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่อาจประเมินค่าได้ นั่นหมายรวมถึงชาวประมงในพื้นที่ดังกล่าวด้วยที่เดือดร้อนหมดหนทางในการประกอบอาชีพ เพราะเรือประมงเสียหาย ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศกรมประมงระบุว่ามี จำนวนมากถึง 8,647 ลำ จึงมีหลาย ๆ หน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ กรมประมงก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงที่ประสบกับภัยพิบัติในครั้งนี้ อาทิ การมอบเงินช่วยเหลือในเบื้องต้น การฟื้นฟูอาชีพให้แก่ชาวประมง และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฯลฯ และอีกภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การได้เข้าร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สภากาชาดไทย กรมอู่ทหารเรือ และวิทยาลัย เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือ พระนครศรีอยุธยา ในการสร้างเรือประมงพื้นบ้าน ที่ผลิตจากไฟเบอร์กลาส เพื่อมอบให้กับชาวประมงได้นำไปใช้
นายประทับ ขาวมาลา หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเรือประมง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเล กรมประมง เล่าให้ฟังว่า เรือไฟเบอร์กลาส ที่กรมประมงได้จัดสร้างขึ้นนั้น สร้างแบบเรือหัวโทง ซึ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านที่ชาวประมงในแถวภาคใต้ใช้ประกอบอาชีพ ปรากฏว่า ตรงตามความต้องการของชาวบ้าน สามารถนำ ไปใช้ทำประมงได้จริงอีกทั้งยังมีความทนทาน บำรุงรักษา ง่าย เนื่องจากเรือที่สร้างจากไฟเบอร์กลาสนั้น มีข้อดีมากมาย อันดับแรก คือ สามารถช่วยลดปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และต้นทุนการสร้างยังถูกกว่าเรือที่ทำจากไม้แบบเดิมด้วย กรณีในการสร้างจำนวนหลาย ๆ ลำ อีกทั้ง ยังมีความทนทานมากกว่าเรือที่ทำจากไม้ และที่ได้ประโยชน์อย่างสูงสุดกับชาวประมง คือ ในการนำเรือออกไปทำประมงสามารถลดต้นทุนการทำประมง เพราะ สามารถแล่นได้เร็วกว่าเรือไม้ ซึ่งช่วยประหยัด น้ำมันได้ในระดับหนึ่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงมีรับสั่งให้จัดสร้างเรือเพิ่มอีก 500 ลำ โดยพระองค์ได้เสด็จฯ พระราชทานเรือไฟเบอร์ กลาสด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ณ หาดท้ายเหมือง จังหวัด พังงา ยังความปลื้มปีติแก่ราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่าง ต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดสร้างโรงซ่อมเรือไฟเบอร์กลาสขึ้น ที่หมู่บ้านโครงการชัยพัฒนา-กาชาดไทย หรือ ที่คุ้นชินกันในชื่อ บ้านทุ่งรัก ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลแม่นางขาว อำเภอ คุระบุรี จังหวัดพังงา เพื่อเป็นสถานที่ให้ความ ช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านและผู้ที่ได้รับพระราชทานเรือไฟเบอร์กลาสไปแล้ว ให้มีสถานที่สำหรับนำเรือมาซ่อมแซมได้ พร้อมใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกอบรมในการสร้าง และซ่อมเรือไฟเบอร์กลาส ซึ่งเปรียบเสมือน เป็นทั้งโรงพยาบาลเรือและโรงเรียนเรือในคราวเดียวกัน.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์