ให้หลังเพียงไม่กี่เดือน ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลน และราคาแพง ก็กลับมาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนคนไทยอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้แล้วที่ชาวบ้านต้องทนซื้อบริโภคน้ำตาลทรายแพงกว่าปกติ เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำตาลทรายมากมาย และป้อนส่งออกให้คนทั้งโลกได้กินได้ใช้ แต่ทว่าคนในประเทศกลับต้องทนทุกข์หาซื้อน้ำตาลได้ลำบาก และหาซื้อได้ยากเต็มทน
หากยังไม่ลืมก่อนหน้านี้ช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 53 ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลนได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ต่อมาได้ถูกกระแสการเมืองเข้ากลบ จนทำให้ปัญหาเงียบหายไประยะหนึ่ง แต่พอความวุ่นวายทางการเมืองยุติ ปัญหาน้ำตาลเดิม ๆ ก็กลับมาโผล่หลอกหลอนคนไทยกันอีกครั้ง
สถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลในประเทศต้องถือว่าค่อนข้างผิดปกติ เพราะนอกจากเสียงร้องระงมจากชาวบ้านที่หาซื้อน้ำตาลทรายยากเย็นจากร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าแล้วข้อมูลจากกรมการค้าภายในยังระบุว่า ได้เกิดปัญหาจริงในหลายพื้นที่ ตอนนี้มีถึง 40 จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำตาลทรายราคาแพงเกิน กก.ละ 28 บาท บางแห่งในจังหวัดห่างไกลพุ่งไปเกิน กก. ละ 30 บาท ที่สำคัญยังพบปัญหาตึงตัวหรือหาซื้อยากอีกด้วย
ฝั่งร้านค้าปลีกหรือร้านโชห่วย ยอมรับว่าต้องยอมเสี่ยงขายน้ำตาลแพงกว่าปกติ เพราะต้นทุนรับมาก็ทะลุเพดานที่รัฐบาลควบคุมแล้ว หากไม่นำมาขายชาวบ้านก็คงเดือดร้อนและไม่มีกินมีใช้ ด้านผู้ค้าส่งน้ำตาลหรือยี่ปั๊วซาปั๊วในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลออกมายืนยันไปในทางเดียวกันว่า น้ำตาลยังหาซื้อได้ไม่ขาดแคลน แต่ก็มีราคาสูงขึ้นมาก โดยขณะนี้ราคาต้นทุนที่ได้รับมาจากโรงงาน หรือตัวแทนเอเย่นต์สูงถึง กก.ละ 26-27 บาท ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศราคาควบคุมน้ำตาลใน 5 จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขายปลีกไม่เกิน กก.ละ 23.50 บาทเท่านั้น แต่หากไม่ยอมซื้อในราคานี้ก็ไม่มีน้ำตาลนำมาจำหน่าย
แม้แต่ฝั่งห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ปกติมีสินค้าหมุนเวียนคล่องตัว ก็ยังพบว่ามีน้ำตาลไม่พอขาย อย่างห้างเทสโก้ โลตัส ร้องเรียนมายัง กระทรวงอุตสาหกรรมว่า ไม่มีน้ำตาลทรายจำหน่ายเนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายบางแห่งไม่ส่งตามสัญญา หรืออย่าง ห้างบิ๊กซี ที่ยอมรับว่าตลอดสัปดาห์นี้ได้เกิดปัญหาน้ำตาลในท้องตลาดขาด บริษัทจึงจำกัดปริมาณการซื้อน้ำตาลของผู้บริโภคไว้
ฤดี เอื้อจงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเกิดปัญหาน้ำตาลในท้องตลาดขาดแคลน บริษัทจึงจำกัดปริมาณการซื้อน้ำตาลของผู้บริโภคต่อครอบครัวไว้ไม่เกิน 6 ถุงเท่านั้น จากก่อนหน้านี้ไม่มีการจำกัดปริมาณการซื้อสินค้า เพราะส่วนหนึ่งบริษัทได้จัดโปรโมชั่นราคาขายพิเศษของน้ำตาลไว้ จึงมีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการซื้อไว้ให้แก่ลูกค้าทุกครอบครัวมีสินค้าเพียงพอความต้องการ
แต่แม้กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ดูแลสายการผลิตน้ำตาลทราย จะออกมายืนยันในที่ประชุม ครม.ว่า น้ำตาลมีเหลือปกติ แต่ทำไมปัญหาราคาน้ำตาลทรายราคาแพง และหาซื้อยากยังทวีความรุนแรงอยู่ สาเหตุน่าจะเกิดหลายประเด็นด้วยกัน แต่สาเหตุ หลัก ๆ มาจากน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก แพงกว่าราคาในประเทศ กก.ละเกือบ 10 บาท จึงเกิดการทะลัก และการบิดเบือนของโควตาน้ำตาลทรายที่ใช้ระหว่างการบริโภคภายใน กับโควตาเพื่อการส่งออก
ตอนนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดนิวยอร์กในเดือน พ.ค. เฉลี่ยที่ 19.59 เซ็นต่อปอนด์ แม้มีทิศทางปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่เคยสูงถึง 28.94 เซ็น แต่ก็ถือเป็นระดับราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 17 ปีหลัง ระหว่างปี 2534-51 ที่ราคาเฉลี่ยเพียง 7-11 เซ็นต่อปอนด์เท่านั้น ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้สร้างแรงจูงใจแก่พ่อค้าให้หันมาส่งออกน้ำตาลไปขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะได้กำไรงามกว่า เนื่องจากราคาจำหน่ายในประเทศยังถูกดูแลและควบคุมจากภาครัฐ
รูปแบบในการส่งออกมีหลายรูปแบบ ทั้งการกว้านซื้อโควตา ก. หรือโควตาที่ใช้ในประเทศ แอบนำไปส่งออกแล้ว ยังมีการใช้กองทัพมด ลัดเลาะผ่านตามตะเข็บชายแดนนำไปขายประเทศเพื่อนบ้าน เพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เพิ่มเกิน กก.ละ 30 บาท
ที่สำคัญยังมีกลุ่มโรงงานผลิตขนม เครื่องดื่มหรือใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก หันมาซื้อน้ำตาลในประเทศไปใช้แทน เพราะมีราคาถูกกว่า ราคาโควตาที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้น้ำตาลสำหรับบริโภคจึงถูกเบียดเบียน และของต้องหายไปจากตลาด โดย ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มองว่า สาเหตุหลัก ๆ ที่น้ำตาลทรายขาดแคลนและชาวบ้านต้องหาซื้อยาก เพราะปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหาร ขนม และเครื่องดื่มจำหน่ายในประเทศได้ซื้อน้ำตาลบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) จำนวนมาก มีสัดส่วนถึง 17.6 ล้านกระสอบ หรือ 80% จากปริมาณทั้งหมดที่จัดสรรไว้ 22 ล้านกระสอบ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจดี และเทศกาลการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้โควตาสำหรับผู้บริโภครายย่อยเดือดร้อน
สาเหตุปัญหาทั้งหมดทั้งปวงที่ผู้ผลิตอาหารซื้อได้มากสัดส่วนขนาดนี้ เพราะไม่มีข้อกฎหมายไปบังคับห้ามผู้ประกอบการซื้อน้ำตาลไปผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ เพราะปกติสัดส่วนการใช้น้ำตาลทรายของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอยู่ที่ 60% และภาคครอบครัวอยู่ที่ 40% แต่เมื่อโรงงานน้ำตาลเพิ่มสัดส่วนใช้เป็น 80% จึงกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในประเทศ ประกอบกับมีการลักลอบตามชายแดนจึงทำให้ความเดือดร้อนมีมากขึ้น
ด้าน กระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่า ปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดแคลนมาจากตัวโรงงานน้ำตาลเองเล่นแง่ไม่ยอมระบายน้ำตาลออกมาจนทำให้ระบบการซื้อขายน้ำตาลติดขัด โดยเฉพาะขณะนี้มี โรงงานน้ำตาลบางรายไม่ปล่อยน้ำตาลทรายให้ยี่ปั๊วซาปั๊วตามที่ได้รับจัดสรรโควตาจากกระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ ซึ่งถึงขณะนี้มีการปล่อยให้เพียง 5 แสนกว่ากระสอบเท่านั้น จึงทำให้ปัญหาน้ำตาลทรายไม่คลี่คลาย
ขณะที่ วัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน ประกาศว่าได้แจ้งตักเตือนให้ผู้ค้าและโรงงานน้ำตาลทรายไปแล้วว่า อย่าได้กักตุนหรือปฏิเสธการขายน้ำตาลทราย เพราะความจริงปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายในประเทศถึงปีละ 7 ล้านตัน ในจำนวนนี้เพื่อการบริโภคในประเทศเพียง 2 ล้านตัน ถือว่าเพียงพอ แต่สถานการณ์ขณะนี้กลับเกิดภาวะขาดแคลนและตึงตัวในบางพื้นที่จนกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อย
แนวทางแก้ปัญหาในขณะนี้ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ความสำคัญจัดเป็นวาระเร่งด่วน และแจ้งระหว่างการประชุม ครม.ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานมาแล้วว่าน้ำตาลในสต๊อกไม่ได้ขาด แต่กำลังอยู่ในระหว่างการเร่งระบายออกมาสู่ตลาดให้มากที่สุด จึงให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ รับไปดูแลเรื่องน้ำตาลที่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาห กรรม คนใหม่แกะกล่อง จึงรับลูกต่อจากนายกฯ สั่งการให้สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขึ้นงวดน้ำตาลเพิ่มอีกเท่าตัว จากปกติที่มีปริมาณสัปดาห์ละ 4.03 แสนกระสอบ เป็น 8.06 แสน กระสอบ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยดึงน้ำตาลในงวดที่ 52 ซึ่งเป็นงวดปลายปีมาใช้ก่อน รวมถึงจะดึงโควตางวดที่ 51 ออกมาใช้ด้วย เพราะเชื่อว่าการขึ้นงวดน้ำตาลเพิ่มเป็น 2 เท่าใน 2 งวดก็ช่วยแก้ปัญหาได้
ขณะที่การนำน้ำตาลมาชดเชยใน 2 งวดที่ขาดไปในปลายปี ได้สั่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาซื้อคืนน้ำตาลทรายในโควตา ค. (ผลิตเพื่อส่งออก) จากผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาซื้อแล้วจำนวน 1 ล้านกระสอบ แล้วนำมาจัดสรรในโควตา ก. (จำหน่ายในประเทศ) แทน ส่งผลให้น้ำตาลทรายในโควตา ก. จะเพิ่มจากเดิม 22 ล้านกระสอบ เป็น 23 ล้านกระสอบในปี 53 แต่ กอน. ต้องแบกความรับผิดชอบ จ่ายส่วนต่างราคาที่โรงงานน้ำตาลทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในราคาที่สูงกว่าราคาจำหน่ายในประเทศ
ขณะที่ฝั่ง ยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับกรมการค้าภายในแล้ว และเตรียมนำเสนอมาตรการกฎหมาย ให้คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พิจารณาในสัปดาห์นี้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลน โดยเฉพาะการประกาศน้ำตาลทรายให้เป็นสินค้าควบคุมทั้งประเทศ พร้อมกำหนดราคากลาง และราคาขายปลีกให้แต่ละจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาจนผู้บริโภคเดือดร้อน หลังจากที่ผ่านมาได้ประกาศแค่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงสั่งให้พิจารณาควบคุมปริมาณการครอบครอง และการขนย้ายด้วย
ที่ผ่านมาเราได้แจ้งให้กรมการค้าภายในจังหวัดพยายามกำหนดราคาแนะนำแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจากนี้จะใช้ประกาศราคาจากส่วนกลางมากำหนดราคาขายปลีก เหมือนราคาควบคุมไปเลย โดยราคาแต่ละจังหวัดจะคิดจากราคาหน้าโรงงาน บวกค่าขนส่งเข้าไป เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการซื้อขาย หากใครไม่ปฏิบัติจะมีโทษทางกฎหมายทั้งทางแพ่ง และอาญา เพราะตอนนี้ได้รับร้องเรียนมีผู้ประกอบการ และโรงงานน้ำตาลในเขตกรุง เทพฯ และปริมณฑลซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมราคาน้ำตาลทราย กก.ละ 23.50 บาท นำน้ำตาลออกไปขายจังหวัดอื่นที่ไม่มีการประกาศควบคุม เพราะได้กำไรมากกว่าและไม่ถูกเข้มงวดกวดขัน
ด้าน พรทิวา นาคาศัย รมว. พาณิชย์ ได้เผยว่า เร็ว ๆ นี้ จะเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อหารือกรณีโรงงานน้ำตาลทรายไม่ปล่อยน้ำตาลทรายให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊วตามการจัดสรรโควตาน้ำตาลทรายให้กระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ ซึ่งถึงขณะนี้มีการปล่อยให้เพียง 5 แสนกว่ากระสอบ และหารือเพิ่มโควตาน้ำตาลทราย เพื่อมากระจายให้ประชาชนในประเทศ
แนวทางแก้ไขที่หลายหน่วยงานของภาครัฐร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งการเพิ่มปริมาณสินค้าในตลาด รวมถึงการป้องปรามตรวจจับผู้กระทำผิด ละเมิดกฎหมาย เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง และในไม่ช้าน่าจะดีขึ้น แต่สิ่งที่หลายคนห่วงก็คือ มาตร การเหล่านี้อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการแก้ที่ปลายเหตุหรือไม่ เพราะตราบใดกลไกการดูแลบริหารจัดการยังบิดเบือน และถูกแทรกแซงจากรัฐเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ต่อไปหากราคาน้ำตาลตลาดโลกแพงขึ้น โอกาสที่น้ำตาลในประเทศจะขาดแคลนก็เป็นไปได้อีกทางที่ดีรัฐบาลน่าจะถือโอกาสทบทวนระบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งระบบให้ยืดหยุ่น เข้ากับยุคสมัยมากกว่านี้ รวมถึงกำจัดจุดอ่อนในระบบเดิมทิ้งไป เพราะปัจจุบันราคาอ้อยก็สูงมาก เกษตรกรขายคงไม่ขาดทุนแน่นอน รัฐไม่น่าจะต้องเหนื่อยกับการแทรกแซงราคา หรือจัดสรรระบบโควตาน้ำตาลทราย ที่ทุกวันนี้ไม่ต่างอะไรกับระบบมาเฟียลอตเตอรี่ จนทำให้สามารถชี้เป็นชี้ตาย กำหนดทิศทางตลาด ปริมาณ และราคาในประเทศได้ยามเกิดวิกฤติ
รวมถึงการแก้ปัญหาภาระหนี้ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ประชาชนต้องแบกรับภาระชดเชยกินน้ำตาลแพงขึ้น กก.ละ 5 บาท ตั้งแต่รัฐบาลสมัย สมัคร สุนทรเวช ให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด เพราะขณะนี้เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งรัดการพิจารณานำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลยังเงียบเชียบมาก ทั้งที่ภาระการชดเชยเงินกองทุนอ้อย 25,000 ล้านบาท จะหมดลงเดือน พ.ย.นี้
ดังนั้นควรพิจารณาหาทางออกนำเงินส่วนต่างจากขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ กก.ละ 5 บาท เมื่อปี 51 ว่าจะต้องยกเลิกและปรับลงมาเพื่อความเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ เพียงใด และไม่ควรพูดถึงการขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้อีก
ถึงเวลาแล้วที่บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลอ้อยและน้ำตาล ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ดูแลชาวไร่อ้อยวัตถุดิบผลิตน้ำตาล โรงงานน้ำตาลของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ดูแลระบบค้าปลีก ค้าส่งอย่างกระทรวงพาณิชย์ น่าจะจับเข่าคุยกันแก้ปัญหาอย่างจริงใจ แต่ทั้งหมดจะทำได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลว่า จะกล้าลงมือแก้ไขมากน้อยแค่ไหน.
ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กเฉลี่ยรายเดือน ตั้งแต่ปี 2534-2553
ปี มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม เซ็น/ปอนด์ บาท/กส. บาท/ดอลลาร์สหรัฐ 2534 8.88 8.57 9.22 8.55 7.88 9.37 10.26 9.45 9.39 9.10 8.79 9.03 9.04 506.66 25.42 2535 8.43 8.06 8.22 9.53 9.62 10.52 10.30 9.78 9.28 8.66 8.54 8.15 9.09 507.06 25.30 2536 8.27 8.61 10.75 11.30 11.87 10.35 9.59 9.30 9.52 10.25 10.08 10.48 10.03 557.72 25.22 2537 10.29 10.80 11.71 11.06 11.79 12.04 11.73 12.05 12.63 12.75 13.88 14.76 12.12 669.57 25.05 2538 14.87 14.43 14.58 13.66 13.49 13.99 13.47 13.70 12.72 11.94 11.96 12.40 13.43 735.99 24.85 2539 12.57 12.96 13.04 12.43 11.98 12.55 12.82 12.32 11.93 11.65 11.29 11.36 12.24 681.18 25.24 2540 11.13 11.06 11.17 11.50 11.54 12.02 12.09 12.54 12.65 12.86 13.22 12.89 12.06 828.98 31.19 2541 11.71 11.06 10.66 10.27 10.20 9.33 9.70 9.50 8.21 8.24 8.74 8.88 9.71 880.74 41.15 2542 8.45 7.05 6.16 5.44 5.83 6.68 6.11 6.39 6.98 6.90 6.54 6.00 6.54 544.20 37.72 2543 5.64 5.50 5.54 6.46 7.40 8.72 9.62 11.14 10.35 10.95 10.02 10.23 8.46 747.53 40.06 2544 10.65 10.26 9.64 9.27 10.02 9.80 9.48 8.76 8.63 7.26 7.80 8.02 9.13 893.53 44.38 2545 7.97 6.82 7.27 7.12 7.33 7.07 8.02 7.86 8.54 8.84 8.86 8.76 7.87 744.66 42.91 2546 8.50 9.15 8.51 7.92 7.42 6.85 7.18 7.31 6.70 6.74 6.83 6.95 7.51 685.49 41.43 2547 6.42 7.01 8.24 8.21 8.08 8.42 9.17 8.99 9.10 9.84 9.65 10.19 8.61 762.50 40.17 2548 10.32 10.51 10.57 10.19 10.20 10.45 10.89 11.09 11.59 12.67 12.86 15.12 11.37 1,006.82 40.16 2549 17.39 18.93 18.00 18.25 17.88 16.18 16.61 13.60 12.46 12.08 12.38 12.46 15.52 1,294.24 37.83 2550 11.85 11.63 11.45 10.85 10.76 11.05 12.18 11.66 11.61 11.82 11.82 12.49 11.60 880.56 34.44 2551 13.75 15.16 14.55 13.69 12.19 13.29 14.90 15.58 14.74 13.02 12.88 12.31 13.84 1,014.09 33.24 2552 13.11 13.90 13.87 14.43 16.76 16.95 18.57 22.41 23.11 23.17 22.91 25.29 18.71 1,410.03 34.19 2553 28.94 27.29 21.36 19.86 19.59 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 32.89 33.00 32.36 32.14 32.23เดือน พ.ค. 53
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์