ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการส่งออกข้าวเป็นสินค้าหลัก สามารถครองแชมป์อันดับหนึ่งมาตลอดกาล ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานและส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวให้มากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดจัดทำโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 ขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ไปจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดโครงการในปี 2556 นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตให้เหมาะสมต่อการผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้จำนวน 1.27 ล้านไร่ เกษตรกรเป้าหมาย 87,400 ครัวเรือน และเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิจาก 250 กก.ต่อไร่ เป็น 470 กก.ต่อไร่ หลังสิ้นสุดโครงการ โดยงบประมาณในปี 2553 ที่จะเข้าไปพัฒนาโครงการประมาณ 484 ล้านบาท จากงบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,230 ล้านบาท
ด้าน นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิ การสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือสศก.กล่าวว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐาน เพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ระยะที่สอง ปี 2552-2556 ได้มีมติเห็นชอบในการขยายขอบเขตเป้าหมายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในโครงการฯโดยพิจารณาส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพิ่มเติมอีก 4 แสนไร่ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยประมาณการผลผลิตเป้าหมาย 2 แสนตัน ของ 5 จังหวัดในทุ่งกุลาร้องไห้ โดยแยกเป็นเป้าหมายรายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่นาจำนวน 986,807 ไร่ เป้าหมายพื้นที่ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 150,000 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 75,000 ตัน จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่นาจำนวน 575,993 ไร่ เป้าหมายพื้นที่ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 150,000 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 75,000 ตัน จังหวัดศรีสะเกษ พื้นที่นาจำนวน 287,000 ไร่ เป้าหมายพื้นที่ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 50,000 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 25,000 ตัน จังหวัดมหาสารคาม พื้นที่นาจำนวน 193,890 ไร่ เป้าหมายพื้นที่ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 30,000 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 15,000 ตันจังหวัดยโสธร พื้นที่นาจำนวน 64,000 ไร่ เป้าหมายพื้นที่ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 20,000 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 10,000 ตัน ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนเกษตรกรผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ให้สามารถผ่านเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลและตลาดต่างประเทศยอมรับและสามารถส่งออกได้สูงขึ้นกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปในมาตรฐาน GAP ถึง 2 เท่า ซึ่งจะส่งผลทำให้เกษตรกรในทุ่งกุลาร้องไห้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 700 ล้านบาท และหากคิดเป็นมูลค่าข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่เป้าหมาย 4 แสนไร่จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 4,000 ล้านบาท ทีเดียว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์