2เขื่อนใหญ่ย่ำแย่..กับทางแก้ที่มองไม่เห็น! ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาระดับโลกทั้งอากาศ พื้นดิน และแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งต้นน้ำลำธาร และแม่น้ำต่าง ๆ ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชนมาตั้งแต่อดีตกาล จังหวัดลำปาง มีแม่น้ำวัง เป็นสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทั้งด้านการเกษตร อุปโภค และบริโภค โดยจากข้อมูล แม่น้ำวัง เกิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ บริเวณดอยหลวง บ้านป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยตอนบนมีลุ่มน้ำ ที่มีเทือกเขาผีปันน้ำ ล้อมรอบ สภาพเป็นเนินเขามีพื้นที่ราบเล็กน้อย ตอนกลางของลุ่มน้ำเป็นที่ราบสลับเนินเขาจนถึงในเขตตัวเมืองจังหวัดลำปาง ส่วนตอนล่างเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบ และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปิง ตอนท้ายเขื่อนภูมิพล ที่บ้านปากวัง ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ลุ่มน้ำวัง มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ จ.ลำปาง และ จ.ตาก ด้วยความสำคัญจะเห็นได้ว่ามีการกั้นเขื่อนขนาดใหญ่อยู่เหนือต้นน้ำแม่วัง ในเขตจังหวัดลำปาง คือ เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา โดยเขื่อนกิ่วลม ตั้งอยู่ที่บ้านหาดเชี่ยว ต.บ้านแลง อ.เมืองลำปาง ปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกักได้ 106 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนกิ่วคอหมา ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยสะเหน้า ต.ปงดอน อ.แจ้ห่ม อยู่ด้านเหนือขึ้นไป มีปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกักได้ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากความเจริญ และการขยายตัวของชุมชนทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำวังผ่านมา จนทำให้แม่น้ำวัง เกิดปัญหาวิกฤติขึ้นโดยจากสภาพปัจจุบันแม่น้ำวัง ตั้งแต่ท้ายเขื่อนกิ่วลมลงมาทั้งสองฟากฝั่งชุมชนได้ขยายตัวขึ้นเป็นชุมชนเมืองตั้งแต่ในเขต อ.แจ้ห่ม มาถึงเขต อ.เมืองลำปาง เช่น เทศบาลตำบลพิชัย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุ่งฝาย อบต.บ้านแลง และที่สำคัญที่สุด คือ เทศบาลนครลำปาง ซึ่งมีขนาดใหญ่ทั้งสองฟากฝั่งมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และย่อม หมู่บ้านจัดสรร อาคารบ้านเรือน ร้านอาหาร ร้านค้าในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าทางเทศบาลนครลำปางจะมีบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจากข้อเท็จจริงยังมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำวัง ตลอดทั้งวันทั้งคืนโดยไม่มีการบำบัด ตลอดจนถึงการทิ้งขยะแบบไม่รับผิดชอบของชาว บ้านลงในแม่น้ำวัง
ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าได้มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลมเพื่อไล่น้ำเสีย แต่ด้วยข้อจำกัดของปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีอยู่ ทำให้ไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร จึงทำให้บางครั้งน้ำในแม่วังเน่าเสียไม่เหลือภาพของแม่น้ำวังในอดีตที่สวยงามอยู่เลย และบางช่วงมีลักษณะตื้นเขินหรือถูกรุกล้ำจากนายทุน เหลือเพียงทางน้ำขนาดเล็กเท่านั้น อีกทั้งสายน้ำแม่วัง แห่งนี้ยังไหลผ่าน ไปยังพื้นที่ชุมชนอีกหลาย ๆ แห่ง ผ่านพื้นที่ อ.เกาะคา อ.เถิน จ.ลำปาง และ อ.สามเงา อ.บ้านตาก จ.ตาก ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีการปล่อยน้ำเน่าเสียลงไป นั่นหมายความว่า แม่น้ำวัง ได้กลายเป็นทางระบายน้ำเสียขนาดใหญ่จากชุมชนขนาดใหญ่ ไหลไปรวมกับน้ำเน่าเสีย จากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง แม่น้ำยม รวมกับแม่น้ำน่าน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่คนกรุงเทพฯ นำไปใช้อุปโภคบริโภค นายชัยประเสริฐ เนตรอนงค์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา กล่าวว่า นอกจากน้ำในแม่น้ำวัง จะเน่าเสียแล้ว ปัจจุบันปริมาณน้ำรวมทั้งสองเขื่อนมีเพียง 42 เปอร์ เซ็นต์เท่านั้น และในปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนกิ่วลมถือว่าวิกฤติมากในรอบ 17 ปี แต่ยังดีว่ามีน้ำในเขื่อนกิ่วคอหมา ที่อยู่ตอนบนสำรองอยู่ มิฉะนั้นปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคของจังหวัดลำปาง คงวิกฤติอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้ปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำวัง วันละ 360,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และที่สำคัญยังใช้ไล่น้ำเสียเพื่อรักษาระบบนิเวศ ซึ่งน้ำบางส่วนถูกระบบนิเวศซับหายไประหว่างทาง และบางส่วนถูกชาวบ้านสูบไปใช้ในภาคเกษตร รวมทั้งทำน้ำประปา ประกอบกับลำน้ำ หรือลำห้วยสาขาย่อยต่าง ๆ ที่ไหลลงมาบรรจบสองฝั่งน้ำแม่วัง ปัจจุบันแทบไม่มี หรือมีน้อยมาก จึงทำให้ส่วนท้าย ๆ ของแม่วัง ไม่ มีน้ำ แต่หากว่าทางโครงการฯ จะปล่อยน้ำลงในแม่น้ำวังให้ไหลตลอดเวลา คือ วันละประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร จะส่งผลทำให้น้ำในเขื่อนหมดลงไปในเวลาประมาณ 2 เดือนเท่านั้น นายประเสริฐ บุพพัณหสมัย รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันเทศบาลนครลำปาง มีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ระบบรองรับได้เพียงประมาณ 50 เปอร์ เซ็นต์ ซึ่งทางเทศบาลฯ ยืนยันว่า โครงการบำบัดน้ำเสียส่วนที่เหลือยังเดินหน้าโครงการอยู่ แต่ติดขัดในเรื่องของงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมาก ซึ่งทางเทศบาลฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังดำเนินการหาแหล่งเงินงบประมาณอยู่ ทางด้าน นายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ซึ่งรับผิดชอบตรวจสอบเฝ้าระวังข้อมูลคุณภาพน้ำ กล่าวว่า จากข้อมูลในการตรวจสอบครั้งที่ 2 ปี 2553 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 8 (2537) พบว่าคุณภาพน้ำดี 7% พอใช้ 33% เสื่อมโทรมมีถึง 53% และเสื่อมโทรม มาก 7% ดังนั้นถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านป่าไม้ ด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมองเห็นความสำคัญ เช่นโครงการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่จากชุมชนทั้งสองฟากฝั่งต้นน้ำ ถึงท้ายน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนอีกมากมายในอนาคต ตลอดจนถึงการทำงานในเชิงรุกเพื่อสร้างจิตสำนึกในการดูแลป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร การรักษาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพราะหากปล่อยปละละเลยต่อไป แม่น้ำวัง อาจกลายเป็นเพียงคลองระบายน้ำเน่าเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และชื่อแม่น้ำวัง จะเป็นเพียงตำนานเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตเท่านั้นเอง.
อัศเรศ สมเปิง
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์