ควัก20บาท...ต่อยอดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าชายเลน ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ และสัตว์ เพราะเป็นการสร้าง ไปจนถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศในธรรมชาติให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีการหมุนเวียนของชีวิตที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่าระบบห่วงโซ่ ล้วนได้รับอาหารอันสมบูรณ์จากป่าชายเลนทั้งสิ้น ดังนั้น ชาวบ้านท่าศิลา ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล จึงร่วมกันสร้างสะพานมิตรภาพและร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนให้คง อยู่สืบไป เพราะป่าชายเลน ถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ อีกทั้งยังเกิดการอนุรักษ์แหล่งที่ให้สัตว์น้ำเข้าอาศัย วางไข่ เพาะฟัก ขยายพันธุ์ ซึ่งสัตว์น้ำวัยอ่อนจะพากันมาบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณที่ป่าชายเลนในการวางไข่ของสัตว์น้ำทุกชนิด ทำให้ชาวบ้านหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าที่จะพัฒนาชุมชนขึ้นมาในหมู่บ้านท่าศิลา หมู่ที่ 5 ต.นาทอน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายบัวศร วงศ์อุต อายุ 67 ปี ชาวบ้านท่าศิลา หมู่ที่ 5 ต.นาทอน กล่าวว่าได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนในหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้าน ท่าศิลา มีทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนที่หลงเหลืออยู่แถบชายฝั่งควบคู่ไปกับหมู่บ้าน และชาวบ้าน นอกจากการมีอาชีพทำสวนยางพาราแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความสำคัญร่วมมือดูแลป่าชายเลนที่จะให้ชาวประมงชายฝั่งได้มีแหล่งทำกิน มีสัตว์น้ำจากการอนุรักษ์สัตว์น้ำระยะวัยอ่อนในฤดูกาลวางไข่ในลำคลองเพื่อมีให้จับได้ตลอดปี
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกลุ่มชาวบ้านมีความเห็นตรงกันว่าเพื่อต้องการที่จะให้ชาวประมงชายฝั่งมีที่พักพิง มีท่าเทียบเรือในลำคลองโปรยเสือหยิบ-ท่าศิลา จึงได้ร่วมกันก่อสร้างสะพานทางเดินเท้า หรือ วอล์กเวย์ ระยะทาง 800 เมตร เพื่อเดินทางเข้าไปยังสะพานท่าเทียบเรือ ทั้งนี้ได้ใช้แรงงานของชาวบ้านร่วม ก่อสร้างสะพานดังกล่าว และเสียสละบริจาคเงินเพื่อเป็นค่าอาหาร วัสดุตะปู นำมาใช้ในการก่อสร้างสะพานให้จนประสบความสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านทั้งหมู่บ้านในการใช้เวลาก่อสร้างร่วมหลายเดือน ซึ่งในการก่อสร้างสะพานครั้งนี้ยังได้ เดินทางไปพบกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะขออนุญาตและได้รับอนุมัติให้ดำเนินการสร้างสะพานแห่งนี้ได้ หลังจากก่อสร้างเสร็จจึงมอบหมายให้ นายสุทรรน์ จุณศักดิ์ศรี อดีต ส.อบจ. ทุ่งหว้า เชิญ นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล มาเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว และถือว่าการอนุรักษ์ป่าของกลุ่มชาวบ้านยังต้องดำเนินการเดินหน้าในการที่จะของบประมาณก่อสร้างถนนเข้าไปยังสะพานระยะทางอีก 1,300 เมตรในการอนุรักษ์ป่าไม้ พวกเราต้องการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว อีกด้วย ทางด้าน นายสุเมธ ผวจ.สตูล กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีที่ชาวบ้านหางบประมาณมาก่อสร้างสะพานสามัคคี ที่เดินทางเข้าไปยังท่าเรือ ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติที่หาชมระบบนิเวศแบบนี้ได้ยาก จากการเดินทางเท้าเข้ามาทำให้รู้สึกว่า อยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว เพราะป่าชายเลนลักษณะสมบูรณ์แบบนี้หาดูได้ยาก หากเป็นไปได้ที่จะช่วยให้กลุ่มชาวบ้านมีรายได้ในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการประชาสัมพันธ์ดึงนักท่องเที่ยวให้เข้า มาเที่ยว และพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติ หรือแบบโฮมสเตย์ พักอาศัยอยู่กับชาวบ้าน หรือออกไปจับปลาทำประมงด้วยกัน ถือเป็นการได้สัมผัสวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด และแท้จริง นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายก อบต.นาทอน กล่าวว่า ยินดีด้วยที่เห็นชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างสะพาน-ท่าเทียบเรือจนสำเร็จด้วยการสละเงินเพียงคนละ 20 บาทเป็นค่าอาหาร วัสดุก่อสร้าง ซึ่งการรวมกลุ่มเช่นนี้จะทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สามารถรองรับทัวริสต์ที่จะมาเยือนได้หลากหลายประเภท หมายถึงการยกระดับความเป็นอยู่ให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง ความร่วมแรงร่วมใจ หรือช่วยกันของคนในชุมชน หมู่บ้าน ก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนอุปสรรคให้บรรลุได้ตามเป้าหมายโดยไม่ยากเย็น เรียกว่าทำกันอย่างสบาย ๆ ทั้งกาย และใจ แต่หากทำเพียงคนเดียว คงไม่สำเร็จได้ ซึ่งอาจไม่ได้เห็นสะพานแห่งความสามัคคีแห่งนี้เป็นแน่แท้.
สุขทวีศักดิ์ เลิศเมธากุล
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์